pearleus

วันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

สมุทรสาครจัดพิธีปิดโครงการพระราชทาน “โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง”


 

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563) เวลา 09.00 น. ที่ เรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี  ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร  เป็นประธานในพิธีปิดโครงการพระราชทาน โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวังรุ่นที่ 4  เรือนจำกลางจังหวัดสมุทรสาคร กรมราชทัณฑ์ โดยมีพันตรีรัฐกิจ ใจจริง ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักงานเรือนจังหวัดสมุทรสาคร เข้าร่วมพิธี

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานให้มีการฝึกโครงการพระราชทาน โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวังเรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร กรมราชทัณฑ์ ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา เพื่อสร้างต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก โดยสามารถดำเนินการได้ในทุกเรื่อง และมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนพื้นฐานความคิดการฝึกวินัย การลงมือปฏิบัติ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์จริง เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นที่ได้รับความเดือดร้อนได้เมื่อพ้นโทษออกไปสู่สังคมภายนอก

เรือนจำกลางจังหวัดสมุทรสาคร จึงได้ฝึกอบรมโครงการพระราชทาน โคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวังรุ่นที่ 4 โดยมีผู้เข้าฝึกอบรมเป็นเจ้าหน้าที่ (ครูพาทำ) จำนวน 14 คน และเป็นผู้ต้องขังที่เป็นคนไทย 106 คน รวมทั้งสิ้น 120 คน โดยปฏิบัติการฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 14 วัน ระหว่างวันที่ 23 ตุลาคม 2563 ถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 โดยแบ่งขั้นตอนการฝึกเป็น 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นที่ 1 การอบรมพึ่งตนเองด้วยทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ขั้นที่ 2 การแปลงทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วยการออกแบบแนวคิดการบริหารจัดการพื้นที่ขนาดเล็ก การประยุกต์ทฤษฎีใหม่แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา ตามภูมิสังคม, การสร้างพื้นที่จำลอง (Table Top Exercise) และวางแผนการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อพอกิน พอยู่ พอใช้ และพอร่มเย็น, การปฏิบัติในพื้นที่จริงที่มีขนาด 1 งานหรือ 412 ตารางเมตร ตามทฤษฎีใหม่ แบบชาวบ้าน ปั้นโคก ขุดหนอง ทำนา ตามภูมิสังคม และ ขั้นที่ 3 เป็นการสรุปและประเมินผล

จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เรือนจำจังหวัดสมุทรสาคร สามารถพึ่งพาตนเอง ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ ทั้งสามารถช่วยเหลือประชาชน ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมได้ หลังจากที่ผู้ต้องขังที่จะได้รับการพ้นโทษออกไปสู่สังคม จะได้ต่อยอดในการดำเนินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ในพื้นที่ตามภูมิลำเนาของตนเอง อันเป็นการสืบสานพระราชปณิธาน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และช่วยกันพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ต่อไป













 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น