ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ย.61 เวลา 09.00 น. พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดโครงการสร้างความตระหนักรู้เรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ และกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “ความเท่าเทียมระหว่างเพศ : จากแนวคิดสู่นโยบาย” โดย นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กล่าวรายงาน ณ ห้องปริ้นซ์บอลรูม 2 – 3 อาคาร 1 ชั้น 11 โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ
ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือผู้ที่แสดงออกแตกต่างจากเพศโดยกำเนิด ได้รับรู้เรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศอย่างถูกต้อง และมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการการสร้างระบบอำนวยความสะดวกในการยื่นเรื่องร้องเรียน และกำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้ถูกเลือกปฏิบัติ อีกด้วย
พลเอกอนันตพร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 ก.ค.61 พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ
ประธานคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (สทพ.) ตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ได้กล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการ สทพ. ว่า “เรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ เป็นเรื่องที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ จึงเป็นความสง่างามที่เราจะได้อยู่ในกระแสที่เวทีระดับโลกยอมรับ พร้อมมอบนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการขับเคลื่อนงานตามพระราชบัญญัติฯ”
"ผมเองในฐานะเป็นรองประธานคณะกรรมการ สทพ. และในฐานะ รมว.พม. ได้น้อมรับนโยบายดังกล่าวมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม โดยมอบหมายให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เร่งสร้างความตระหนักรู้เรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศให้แก่ประชาชนได้เข้าใจอย่างถูกต้อง จึงได้จัดงานในวันนี้ขึ้น เพราะถึงแม้ว่าพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 จะมีผลบังคับใช้ผ่านมาแล้ว 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2558 แต่สถานการณ์การเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศก็ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่หลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผู้หญิงที่ถูกเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน เนื่องจากนายจ้างเห็นว่าผู้หญิงต้องตั้งครรภ์และคลอดบุตร ตลอดจนกลุ่มผู้ที่แสดงออกแตกต่างจากเพศโดยกำเนิดก็ถูกเลือกปฏิบัติในการจ้างงานด้วยเช่นกัน รวมถึงการไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายด้วย"รมว.พม.กล่าว

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเร่งสร้างการรับรู้ที่รวมคนทุกกลุ่มให้สามารถเข้าถึงสิทธิและประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อเป็นการเสริมพลังสำหรับผู้เสียหายกลุ่มที่ยังไม่มีความกล้าหาญเพียงพอที่จะใช้สิทธิ รวมถึงควรมีการปรับปรุง ระเบียบ กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงสิทธิ ตลอดจนสร้างเครือข่ายหน่วยงาน/องค์กร เพื่อช่วยเผยแพร่และทำให้การรับรู้ขยายสู่วงกว้างมากยิ่งขึ้น
รมว.พม.ระบุด้วยว่า การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มที่แตกต่าง ก็ย่อมต้องคำนึงถึงความแตกต่าง เราในฐานะผู้ปฏิบัติการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ต้องไม่เหมารวมว่า ปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติของผู้หญิงและบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นเหมือนกัน แม้จะมีประเด็นปัญหาบางประการที่คล้ายคลึงกัน เช่น เรื่องงาน การศึกษา และสุขภาพอนามัย แต่สาเหตุของปัญหาอันเป็นพื้นฐานสำคัญของการกำหนดโยบาย มาตรการ ต่าง ๆ ย่อมต้อง
พิจารณาถึงความแตกต่าง ดังนั้น ความละเอียดอ่อนต่อการกำหนดประเด็นปัญหาเพื่อนำมาพัฒนาเป็นนโยบายนั้น ต้องทำให้ได้ครอบคลุมทุกมิติของชีวิต และมิติของการดำเนินงาน เหล่านี้ถือเป็นภารกิจที่สำคัญ เพื่อตอบต่อหลักการสากล และพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558


“ผมคิดว่าความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ถือเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม และความเสมอภาคในสังคม หากท่านใดรู้ว่าถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ สามารถโทรแจ้ง 1300 ได้เป็นลำดับแรก ซึ่ง 1300 จะรับเรื่อง และประสานส่งต่อให้ผู้มีอำนาจวินิจฉัยดำเนินการต่อไป หรือ ถ้าอยู่ต่างจังหวัดสามารถเดินทางไปที่สำนักงานนพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัดได้เลย หรือ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัว 8 ศูนย์ ที่อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว” นายเลิศปัญญา กล่าวในตอนท้าย
----------------------
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น