pearleus

วันเสาร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2568

เรื่องเก่าเล่าใหม่ ตำนาน​ "ษาคอรบุรีย์" (สาครบุรี) กับ ปืนใหญ่​โบราณป้อมวิเชียรโชฎก

หลังสงครามเก้าทัพที่พระเจ้าปดุง กษัตริย์พม่ายกกำลังพลนับแสนเข้ามารุกรานไทยในสมัยสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑   โดยกองทัพที่ยกเข้ามานี้ตั้งแต่เหนือจดใต้ ได้แก่ เชียงใหม่ ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี ชุมพรและภูเก็ต  รัชกาลที่ ๑ ทรงใช้กำลังพลแค่หลักหมื่นแต่รบแบบกองโจร ดักตี ปล้นสดมภ์ได้ทั้งอาวุธและเสบียง ทำให้กองทัพพม่าล้มตาย ขาดแคลนอาวุธและอาหารอย่างหนัก พระเจ้าปดุงจึงเลิกทัพถอยกลับไปหมด

     ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว​ รัชกาลที่​ ๓​  ทรงเห็นว่าการศึกทางบกกับพม่าคงจะไม่มีอีกต่อไปแล้ว​ แต่ภัยคุกคามสมัยใหม่ที่ใช้เรือรบและปืนใหญ่​จากชาติตะวันตกมากกว่า​ ทรงมีความวิตกกังวลในเรื่องนี้​โดยเฉพาะญวน  จึงโปรดให้ปรับปรุงสร้างป้อมปราการที่ตั้งอยู่จังหวัดชายทะเลให้มั่นคง​แข็งแรง​ โดยปากอ่าวทะเลไทยมี  ๒​ แห่งคือที่เมืองเขื่อนขันธ์​สมุทรปราการ​ และที่ปากน้ำเมืองสาครบุรี​ มีความปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงค์​ (ขำ​ บุนนาค)​ พ.ศ.​ ๒๓๗๑ มีดังนึ้

         "ที่เมืองสาครบุรีโปรดให้พระยาโชฎึกราชเศรษฐี​ (ทองจีน)​ ไปทำป้อมที่ริมทางร่วมปากคลองมหาชัยป้อม​ ๑​ ป้อม ครั้นแล้วโปรดให้ชื่อป้อมวิเชียรโชฎก​ สิ้นค่าแรงจีนถือปูน​ ๔๗ ชั่ง​ ๑๕  ตำลึง​ ๓​ บาท​ ๒​ สลึง​ ๑​ เฟื้อง​ โปรดฯให้ยกเอาครัวมอญในเจ้าพระยามหาโยธา​ (ทอเรี๊ยะ)​ ขึ้นไปตั้งทำมาหากินอยู่ที่เมืองสาครบุรี​ จำนวนคน​ เจ้ากรมป้อม​ หลวงพหลมหึมา​ ขุนเดชาชำนาญ  ปลัดกอง​..."

     ในแถบลุ่มแม่น้ำท่าจีน​ มีคลองหลายคลองเช่นคลองสุนัขหอน คลองมหาชัยและไกล้เคียง จึงมีชาวมอญเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ตั้งแต่การอพยพในครั้งนั้น​ โดยครัวเรือนมอญเข้าสังกัดเจ้ากรมป้อม​ มีบาญชีชื่อเพื่อสะดวกในการเรียกฝึกหรือระดมพลในยามมีศึกสงคราม​ ดังนั้นที่เมืองสาครบุรีและเมืองสมุทรปราการจึงมีชาวมอญอาศัยอยู่จำนวนมากถึงปัจจุบัน

     ครั้นเมื่อได้สร้างป้อมวิเชียรโชฎกเสร็จแล้วพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่​ ๓​ โปรดให้ส่งปืนใหญ่ที่สั่งซื้อมาจากอังกฤษและเดนมาร์ก​ และหล่อขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธ​ยอด​ฟ้า​จุฬา​โลก​ รัชกาลที่​ ๑​ ไปไว้ประจำป้อมและถวายรายงานให้ทรงทราบ​ มีข้อความดังนี้

     "  วันศุกร์​ แรม​ ๑๐​ ค่ำ​ เดือน​ ๗​ จุลศักราช​ ๑๑๙๐  ปีฉลู​ เอกศก​ ข้าพระพุทธเจ้า​ พญาศรีเสาวราช​ ขอพระราชทานทำหางว่าวปืนใหญ่​ กระสุนปัตตันซึ่งจ่ายไว้ ณเมืองสมุทรปราการ​ ณคอรเคือนขัน​ (นครเขื่อนขันธ์)​   ษาคอรบุรีย์  (สาครบุรี)​  ถวายฉบับหนึ่ง

     ณะ เมืองษาคอรบุรีย์​ ปืนบเรียม​ ๒๒ กระสุนโดด​ ๒๒๐๐ เมืองษาคอรบุรีย์ปินบเรียมกระสุน​ ๕​ นิว  ๑๑​ นิวครึ่ง​ ๙๖ นิว​ (รวม)​ ๒๒  กระบอก​ กระสุนโด  ๔​ นิว​ ๑๑๐๐   ๕​ นิว​ ๑๐๐  ๙​ นิวครึ่ง​ ๒๐๐ (รวม)​ ๒๒๐๐ "    (สมุทรสาครในประวัติศาสต​ร์และวรรณคดี​  :  สมพงษ์​ เชาว์แหลม​ เรื่องที่​ ๒๖​ -​ ๒๗)

     แต่ครั้งนั้นมาถึง​พ.ศ.​ ๒๕๔๙ ไม่มีผู้ใดทราบจำนวนปืนใหญ่​ ไม่มีหน่วยงานของรัฐแห่งใดรับผิดชอบดูแล​ นายวีรยุทธ​ เอี่ยมอำภา​ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร​ขณะนั้นสนใจในเรื่องนี้ได้สั่งการให้นายสมชาย ลักษณกุลฑล    วัฒนธรรม​จังหวัดสมุทรสาครดำเนินการสำรวจและขอทราบหน่วยงานที่รับผิดชอบ​ หลังการสำรวจแล้ววัฒนธรรมจังหวัดสมุทรสาคร​ได้รายงานว่า

     "... ปืนโบราณนี้ติดตั้งมาตั้งแต่สร้างป้อมวิเชียรโชฎกเสร็จเรียบร้อยแล้ว นับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า​ ๑๗๐ ปี​ ไม่มีหลักฐานจำนวนปืน​ ไม่มีหลักฐานผู้รับผิดชอบดูแลรักษาปืน​ และไม่มีหลักฐานการสูญหาย


     ขณะนี้ได้สำรวจจำนวนปืนที่คงอยู่ในปัจจุบัน​ ปรากฏว่ามีจำน​วน​ ๑๓ กระบอก​ ไม่พบกระสุนปืน​ ได้ทำบัญชีเสนอจังหวัดแจ้งให้กรมศิลปากรทราบ​ เนื่องจากปืนดังกล่าวตั้งอยู่ในบริเวณที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว "  

       จากบาญชีปืนใหญ่ที่พญาศรีเสาวราชถวายรายงานสรุปว่ามีจำน​วน​ ๒๒​ กระบอก​  เหลืออยู่​ ๑๓  กระบอก​ ตั้งอยู่ในสถานที่ต่าง ๆ เช่นที่ป้อมวิเชียรโชฎก หน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมือง หน้าสำนักงานเทศบาลนครสมุทรสาคร  สูญหายไป​ ๙​ กระบอก​ 


     ปัจจุบันบริเวณหน้าป้อมริมแม่น้ำทาาจีนมีการถมดินสูงขึ้นและเทคอนกรีตทำเป็นที่จอดรถ​ ทำให้ตัวป้อมเตี้ยลงไปและถูกรถยนต์บดบังทัศนียภาพหมดสง่าราศี​ไปอักโข ไม่เป็นป้อมปราการที่น่าเกรงขามเช่นในอดีต

      ปืนใหญ่โบราณที่ติดตั้งอยู่ที่เมืองสมุทรสาครนี้เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าเป็นเมืองโบราณ​ เป็นเมืองหน้าด่านที่มีปืนใหญ่สำหรับต่อสู้ชาติที่จะเข้ามารุกรานทางทะเล​ และยิงสลุต​ (Gun Salufe)​ รับฑูตต่างชาติที่เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรี​  ณ พระนครกรุงศรีอยุธยา จึงหาใช่เป็นเมืองประมงดงอาหารทะเลเท่านั้น​ ผู้เขียนเห็นว่าเมืองมหาชัยเป็นเมืองทางผ่านที่ประชาชนทั้งไทยและต่างชาติเดินทางผ่านถนนพระรามที่ ๒​ สู่ภาคใต้หากจะนำปืนโบราณนี้มาติดตั้งที่ถนนหน้าเมืองสัก ๑ กระบอกคู่กับเรือประมง เพื่อให้ประชาชนหรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านที่มีความสนใจประวัติศาสตร์​และโบราณสถานได้แวะเข้ามาเยี่ยมชม​ศึกษาหาความรู้ซึ่งก็จะเป็นการเผยแพร่ความเป็นเมืองโบราณควบคู่กับเมืองประมง​ ดงอาหารทะเล​ (อร่อย)​ และเขตประวัติศาสตร์  ที่ประชาสัมพันธ์กันเอิกเกริกในขณะนี้ 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น