วัดบางปลา วัดที่ชาวรามัญก่อสร้างเมื่อ ๒๐๐ ปีมาแล้ว ตำบลบ้านเกาะจังหวัดสมุทรสาคร ๑ ใน ๑๘ ตำบลของอำเภอเมืองสมุทรสาครม ตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำท่าจีนด้านทิศใต้ติดกับตำบลท่าทรายและด้านทิศเหนือติดกับตำบลท่าเสา อำเภอกระทุ่มแบน มีวัดในพุทธศาสนาคือ วัดบางปลา วัดพันธุวงษ์ และวัดเกาะ
ประชากรของตำบลบ้านเกาะนอกจากจะมีคนไทยพื้นถิ่นเดิมอาศัยอยู่แล้วยังมีชาวมอญอาศัยอยู่อีกจำนวนมาก ชาวมอญดังกล่าวนี้ได้อพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสัมพันธ์จากเมืองมาละแหม่ง ประเทศพม่า ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรีและต้นกรุงศรีอยุธยา มาลงหลักปักฐานอยู่ในชุมชนบ้านเกาะประกอบอาชีพประมงในแม่น้ำท่าจีน อาชีพเกษตรกรรมหลากหลายประเภทเช่นทำนา ตัดฟืน เผาถ่าน เย็บจาก เป็นต้น
มีบันทึกในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ โปรดให้ชาวมอญที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำท่าจีนและคลองสุนัขหอม ตั้งเป็นกองกำลังป้องกันข้าศึกประจำป้อมวิเชียรโชดก ซึ่งบูรณะซ่อมแซมใหม่หน้าเมืองมหาชัย
ปัจจุบันชาวมอญบ้านตำบลบ้านเกาะพัฒนาเป็นคนไทยหมดแล้วแต่ยังยึดถือรูปแบบประเพณี พิธีกรรมและความเป็นมอญอย่างเหนียวแน่นทั้งเรื่องภาษาและวัฒนธรรมซึ่งชาวมอญยังคงมีการสื่อสารกันด้วยภาษามอญ รวมถึงรูปแบบประเพณีพิธีกรรมที่สะท้อนอัตลักษณ์ตัวตนผ่านการแต่งกาย อาหาร และเทศกาลประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการศรัทธาต่อพุทธศาสนา
วัดบางปลา เป็นวัดหนึ่งที่อยู่ในตำบลบ้านเกาะ ตั้งอยู่เลขที่ ๑๑๕ หมู่ ๔ ถนนบางปลา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีเนื้อที่ ๑๐๖ ไร่ ๑ งาน ๖ ตารางวา โดยตั้งมาประมาณ ๒ ๐๐ ปี ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๐
ดูเสน่ห์ยาสถานที่สำคัญคืออุโบสถเก่ามีข้อความปรากฏอยู่บริเวณกลางกรอบหน้าบันตอนบนด้านทิศตะวันตกว่าราษฎรสร้างพ.ศ ๒๔๒๐ (ข้อความเก่าชำรุดเสียหายไปแล้วและบูรณะขึ้นใหม่) ลักษณะโบสถ์เป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องว่าวซีเมนต์ลดสองชั้นด้านหน้าและด้านหลัง มีมุขลดด้านละ ๑ ห้อง มีเสาปูนสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่รองรับโครงหลังคาโดยรอบ
ระหว่างเสากั้นเป็นพนักระเบียงเตี้ยๆประดับด้วยลูกกรงแบบจีนที่ทำจากกระเบื้องเคลือบสีเขียว โครงสร้างหน้าบันทำเป็นผืนต่อกัน หน้าจั่วตอนบนและตอนล่างจะเป็นหน้าบันต่อเนื่อง ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ลักษณะโครงสร้างและการตกแต่งเป็นแบบอิทธิพลศิลปกรรมแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ ๓ หน้าบันทั้งสองด้านตกแต่งมีบรรยากาศแบบจีน มีรูปหงส์คู่ แจกันดอกไม้ ตรงคอสองตกแต่งด้วยปูนปั้นเป็นรูปมังกร ๒ ตัวหันหน้าเข้าหากัน ประดับเครื่องถ้วยชามเป็นลวดลายให้เต็มพื้นที่แทรกกลางลวดลายหลักด้วยเครื่องเคลือบทั้งใบหันด้านในของภาชนะออก บริเวณด้านล่างของหน้าบันด้านทิศตะวันตกมีข้อความอยู่ระหว่างตัวมังกรระบุว่า "บำรุงใหม่พ.ศ ๒๔๖๒"
ผนังด้านหน้าและหลังมีประตูทางเข้าด้านละ ๒ ประตู หน้าต่างด้านละ ๕ บาน ซุ้มประตูและหน้าต่างตกแต่งด้วยลายปูนปั้นเป็นซุ้มโค้งศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย รอบอุโบสถมีซุ้มเสมาก่อเป็นรูปทรงกลมล้อมปิดเสมาไว้ภายใน ด้านข้างเปิดเป็นช่องโค้งยอดแหลมขนาดเล็กให้มองเห็นเสมา ยอดซุ้มเป็นทรงกรวยกลมตกแต่งเป็นลูกยอดเป็นทรงดอกบัวตูมตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้น นอกจากนี้ยังมีลายปูนปั้นประดับโดยรอบบริเวณใต้ยอดซุ้มและบริเวณฐาน ส่วนฐานซึ่งมีฐานสี่เหลี่ยมรองรับอยู่อีกชั้นหนึ่ง อุโบสถมีกำแพงแก้วก่ออิฐถือปูนเตี้ยๆล้อมรอบ
ปัจจุบันทางวัดได้ดำเนินการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่แทนหลังเดิมซึ่งคับแคบและได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ ๑๐) เสด็จแทนพระองค์เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๓๕ ทรงยกช่อฟ้าและทรงพระราชทานพระบรมราชาอนุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธยย่อ "ภปร." ประดิษฐานบนหน้าบันของอุโบสถและในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๓๗ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมาเพื่อทรงตัดหวายลูกนิมิตลูกเอกอีก ๑ ครั้ง
ตามประวัติศาสตร์วัดบางปลาในอดีตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ เคยเสด็จมาที่วัดเมื่อ ร.ศ ๑๒๓ พ.ศ ๒๔๔๗ โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้บันทึกไว้ในหนังสือประพาสต้นในรูปแบบจดหมาย (หนังสือประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕) เล่าถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแสดงออกจากบ้านแหลมโดยทางทะเลถึงสมุทรสาครขบวนเรือล่องเข้าปากอ่าวแม่น้ำท่าจีนเกษตรประทับแรมที่วัดโกรกกรากเสด็จไปประทับเสวยพระกระยาหารที่วัดบางปลา ไร้จุดหมายฉบับที่ ๖ ลงวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ร.ศ ๑๒๓ ความตอนนี้ว่า
" เสด็จมาถึงท่าจีนพอเวลาบ่ายแวะขึ้นซื้อเสบียงที่ตลาดบ้านท่าฉลอมเมื่อก็เรือกระบวนใหญ่ยังมาไม่ถึงจึงไปพักทำครัวที่วัดโกรกกราก ฯลฯ ฯลฯ
วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๓ (พ.ศ ๒๔๔๘) เวลาเช้าเสด็จกระบวนต้นออกจากเมืองสมุทรสาครขึ้นไปตามลำน้ำไปพักทำครัวเช้าที่วัดบางปลา......" หลังจากเสวยพระกระยาหารเช้าแล้วกระบวนเรือขึ้นไปบ้านงิ้วรายแขวงนครชัยศรีเพื่อเสด็จประพาสพระปฐมเจดีย์ต่อไป
ภายหลังการเสด็จประพาสต้นสมเด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ได้ทรงจัดสร้างต่อเติมศาลายาวค่อมถนนทางเดินจากศาลาเดิมไปยังหมู่กุฏิสงฆ์ หน้าบันศาลามีตรารูปสมอเรือ กงจักร และขนาบข้างด้วยรูปช้างชูงวงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของทหารเรือปรากฏอยู่ด้วยจนถึงปัจจุบัน
วัดบางปลามีเจ้าอาวาสปครองทั้งในอดีตและปัจจุบันคือ ๑. พระอาจารย์เปรียญ ๒. พระอาจารย์นุต (หลวงปู่เฒ่าเก้ายอด ๓. พระอธิการทรง ๔. พระครูสมุทรวุฒาจารย์ (หลวงปู่แขก) ๕. พระครูสาครวุฒิชัย(หลวงปู่สุธี) ๖. พระครูวุฒิสาครธรรม (อุทโย)
ทางด้านเครื่องรางของขลังบรรดาผู้นิยมสะสมพระเครื่องเหรียญมงคลถือว่าวัตถุมงคลของหลวงปู่เฒ่าเก้ายอดเจ้าอาวาสรูปที่ ๒ เป็นเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณรูปหนึ่งในยุคนั้นมีพระลูกศิษย์มาเล่าเรียนวิชากับท่านหลายรูปอาทิ หลวงปู่ไปล่ จันทสโร วัดกำแพง หลวงปู่แขก อุตตโม วัดบางปลา หลวงปู่เปลี่ยน วัดชัยมงคล หลวงปู่อาจ วัดดอนไก่ดี หลวงพ่อปิ่น วัดคลองครุ และยังเป็นอาจารย์อีกรูปหนึ่งของสมเด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
เจ้าอาวาสอีกรูปหนึ่งที่เรืองวิทยาคมคือหลวงปู่แขกอุตตโม เจ้าอาวาสรูปที่ ๔ ท่านได้อุปสมบทเมื่อ พ.ศ ๒๔๓๔ ได้ศึกษาเล่าเรียนกับหลวงปู่เฒ่าเก้ายอดพระอุปัชฌาย์ของท่านจนสำเร็จวิชาอาคมต่างๆหลายอย่าง ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่พระครูสมุทรวุฒาจารย์ และในช่วงที่เป็นเจ้าอาวาสรูปที่ ๔ วัดบางปลาได้สร้างเครื่องรางของขลังหรือวัตถุมงคลในวาระต่างๆกันไว้หลายรุ่น อาทิ สร้างผ้ายันต์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๓ เพื่อมอบให้แก่ญาติโยมที่ร่วมทำบุญสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม เหรียญรุ่น ๑ พ.ศ. ๒๔๘๘ เนื้อทองแดงกับดีบุก รุ่น ๒ เนื้อทองแดง รุ่น ๓ พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื้อเงินกับเนื้อทองแดง
หลวงปู่แขกมรณภาพเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๐๖ สิริอายุ ๙๖ ปี ๗๒ พรรษา ทางวัดได้สร้างเหรียญรุ่นที่ ๓ พิมพ์บล็อกแตกแจกตอนงานฌาปนกิจ พ.ศ. ๒๕๐๖ เหรียญสระแอห่างหูเนื้อทองแดง พ.ศ. ๒๕๑๒ โดยอาราธนาหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอมเป็นผู้ปลุกเสก
ลูกศิษย์หลวงปู่แขกที่เป็นเกจิอาจารย์ในเวลาต่อมามีหลายรูป อาทิ พระครูสาครวุฒิชัย (หลวงปู่สุธีร์) วัดบางปลา หลวงปู่สัมฤทธิ์ วัดศรีเมือง พระครูสาครธรรมทัศน์ (หลวงพ่อทองบุญ) วัดธรรมิการาม เป็นต้น
เรื่อง ปรีชา ฐินากร / ภาพ กรกริชต์ ฐินากร
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น