ขอเชิญเที่ยวงานปิดทองหลวงตาทอง ตลาดกระทุ่มแบน อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ระหว่างวันที่ ๒๗ - ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๘
วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๖๘
เวลา ๐๙.๐๐ น. ขบวนแห่รูปรูปเหมือนองค์หลวงตาทอง
เวลา ๑๓.๐๐ น. พิธีบวงสรวงองค์หลวงตาทอง
เวลา ๑๘.๐๐ น. ชมการแสดงเชิดสิงโต - มังกร
วันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๘
เวลา ๑๕.๐๐ น. พิธีเปิดงาน พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
วันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๘
เวลา ๐๘๐๐ น. พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ถวายภัตตาหารพระสงฆ์ ตลอดงานมีมหรสพชมฟรี ภาพยนตร์ ดนตรี
ประวัติ หลวงตาทอง และศาลหลวงตาทองเป็นตำนานที่ชาวกระทุ่มแบนรู้จักกันเป็นอย่างดี เนื่องจากอยู่คู่กับอำเภอกระทุ่มแบนมานานกว่า ๑๐๐ ปี หนังสือศาลหลวงตาทองที่บันทึกโดยนายศิริ เติมประยูร พ่อค้าและอดีตกรรมการศาลหลวงตาทอง มีความว่า ศาลหลวงตาทองหลังแรกที่สร้างแบบกึ่งถาวร มีขนาดเล็ก สร้างด้วยไม้ทรงโปร่ง หลังคามุงสังกะสี มีทางเข้าด้านหน้าทางเดียว สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ และมีการก่อสร้างใหม่อีก ๒ ครั้ง เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ และ ๒๕๓๕
ผู้บันทึกกล่าวว่าหลวงตาทองประวัติแรก ๆ ของท่านไม่มีผู้ใดทราบว่ามีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด อุปสมบทวัดใดและเมื่อใด ผู้สูงอายุในละแวกนั้นได้เล่าให้ลูกหลานฟังว่าเดิมจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองพะอง ตำบลสวนหลวง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ต่อมาย้ายไปจำพรรษาที่วัดนางสาวตำบลท่าไม้ อำเภอกระทุ่มแบน ครั้นเมื่อท่านมีอายุประมาณ ๕๐ ปีได้เดินธุดงค์มาสร้างกุฎีจำพรรษาที่ป่าท้ายตลาดกระทุ่มแบนด้านทิศตะวันตก คือบริเวณที่ตั้งศาลในปัจจุบันจนมรณภาพเมื่ออายุประมาณ ๗๐ ปี ชาวบ้านขนานนามท่านว่า "หลวงตาวัดกุฎิเดียว" หลวงตาทองเป็นพระภิกษุที่เรียกได้ว่าเป็นเกจิอาจารย์ เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนา มีเวทย์มนต์ขับไล่ภูติผีปิศาจ และยาสมุนไพรได้ช่วยดูแลรักษาประชาชนในละแวกนั้นและไกล้เคียงจนเป็นที่เคารพนับถือโดยทั่วไป
เมื่อท่านมรณภาพแล้ว ประชาชนที่นับถือศรัทธาได้ร่วมกันจัดสร้างศาลขึ้นเพื่อสะดวกในการสักการะกราบไหว้ โดยศาลแรก ๆ เป็นลักษณะเพิงไม้หลังคามุงจาก ต่อมาอีกหลายปีจึงก่อสร้างศาลไม้หลังคามุงสังกะสีแห่งแรกขึ้น มีขนาด กว้าง ๑.๕ เมตร ยาว ๒ เมตร ภายในมีรูปสมมติหลวงตาทอง ๑ องค์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙
กาลเวลาผ่านไป มีประชาชนเลื่อมใสพากันมากราบไหว้ขอพรมากขึ้นเป็นลำดับทั้งขอให้คุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุข ขอให้ประกอบกิจการค้าเจริญรุ่งเรืองเป็นต้น แต่เนื่องจากศาลมีขนาดเล็กไม่สะดวกในการประกอบพิธีต่างๆ คณะกรรมการจึงดำเนินการก่อสร้างศาลขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ ผนังศาลคอนกรีต หลังคามุงกระเบื้อง กว้าง ๓ เมตร ยาว ๕ เมตร หล่อรูปเหมือนเท่าองค์จริง เสร็จแล้วมีพิธีอัญเชิญดวงวิญญานเข้าสถิตในศาล และมีงานฉลอง ๓ วัน / คืน มีมหรสพทั้งทั้งลิเก ภาพยนตร์ อุปรากรจีน (งิ้ว) แสดงตลอดงาน จากนั้นได้จัดให้มีงานประจำปีปิดทองหลวงตาทองในเดือนมีนาคม ของทุกปี
งานประจำปีสมัยก่อนนั้นยิ่งใหญ่มากเนื่องจากมีพื้นที่กว้าง ไม่มีตึกรามบ้านช่องเหมือนปัจจุบัน มหรสพทึ่มีไม่เคยขาดคือ "งิ้ว" ตั้งแสดงที่หน้าศาล ดนตรีวงใหญ่เวทึ่อยู่หน้าบ้านศรีสุวรรณริมคลองกระทุ่มแบน ภาพยนตร์ ลิเก มวย ตั้ง ๒ ฝั่งถนนสุคนธวิท มีประชาชนมาเที่ยวงานกันมากไม่น้อยกว่างานปีใหม่
ศาลที่เห็นในปัจจุบันเป็นหลังที่สาม มีขนาดและความสวยงามมากกว่าศาลหลังที่สองกว่าเท่าตัว เป็นอาคารคอนกรีตทรงไทย ประกอบพิธียกช่อฟ้าเมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ โดย พล.ร.อ.ปรีชา สงวนเชื้อ เป็นประธานพิธี พล.ร.ต.ชัชวาลย์ ศรีสุวรรณ ประธานคณะกรรมการศาลกล่าวรายงาน มีข้าราชการ พ่อค้าประชาชนมาร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก รายได้จากการจัดงานประจำปีและรายได้อื่นใด คณะกรรมการศาลได้นำไปช่วยองค์กรการกุศล และสาธารณประโยชน์อื่น ๆ ในทุกปี
สภาวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรสาครเคยนำตำนานนี้เสนอจังหวัดเพื่อพิจารณาเสนอเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมระดับประเทศประเภทวรรณกรรม / ตำนานเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๐ แต่หลักเกณฑ์ของกระทรวงวัฒนธรรมจังหวัดมีสิทธิเสนอไปได้เพียงปีละ ๑ รายการเท่านั้น และจะเสนอรายการที่ตกค้างมาจากปีก่อน ๆ จึงต้องรอการพิจารณาในปีต่อไป
สถานะการคงอยู่ ปัจจุบันศาลหลวงตาทองบริหารงานโดยคณะกรรมการอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และพ่อค้าประชาชนในอำเภอกระทุ่มแบน ยังเป็นที่เคารพนับถือของ ประชาชนและเดินทางมาสักการบูชาทั้งในเวลาปกติและเมื่อมีงานประจำปี
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น