ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 29 มค.63 ที่ห้องประชุมริบบิ้นขาว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว นางสาวอุษณี กังวารจิตต์ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เป็นประธานการประชุมบูรณาการความร่วมมือเพื่อปรับปรุงการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539
นางสาวอุษณี เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การประชุมในวันนี้ เป็นการหารือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน ได้แก่ หน่วยงานสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการปกครอง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรพัฒนาเอกชน ที่ดูแลด้านสิทธิของพนักงานบริการ ได้แก่ มูลนิธิอิสระชน มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) และมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ มาเข้าร่วมประชุมด้วย
โดยได้มีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางปฎิบัติเพื่อการคุ้มครองสิทธิผู้ให้บริการ การป้องกันการแสวงหาประโยชน์จากผู้ให้บริการ การจัดระเบียบสถานบริการ และการจัดสวัสดิการแก่ผู้ให้บริการ ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงข้อคิดเห็นต่อการปรับปรุง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ซึ่งมีการบังคับใช้มาเป็นเวลานาน และไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ นางสาวอุษณี ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าของแผนการทบทวนพระราชบัญญัติป้องกันและปราปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ว่า เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบ หรือคำสั่งใดๆ ที่มีความสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งในครั้งนั้น มีพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 รวมอยู่ด้วย โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ได้ดำเนินการศึกษาทบทวนการบังคับใช้ ผลกระทบ และศึกษาเปรียบเทียบกับกฎหมายในลักษณะเดียวกันของประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่ ปี 2561 และอยู่ระหว่างดำเนินการต่อเนื่องในปี 2563 เนื่องจากกฎหมายดังกล่าว มีความเกี่ยวข้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และการใช้บังคับร่วมกับพระราชบัญญัติฉบับอื่น ๆ ด้วย
ซึ่งการจัดประชุมในครั้งนี้ นับว่าเป็นส่วนสำคัญที่ได้รับความเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และเป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยขั้นตอนต่อจากนี้ สค. จะได้ดำเนินการปรับปรุง แก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ตามกระบวนการของกฎหมายต่อไป
โดยสค. พร้อมรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการดำเนินด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าประเวณี เพื่อการคุ้มครองสิทธิของบุคคล ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี และได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น