
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า เรือลอกตะกอนแบบตีกวนและดูดกลับและเรือเก็บผักตบชวาแบบอัดก้อนใช้หน้าประตูระบายน้ำและคลองสาธารณะ เป็นนวัตกรรมที่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้การสนับสนุนงบประมาณแก่ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือพระนครศรีอยุธยา ในการคิดค้นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์สร้างต้นแบบ และออกแบบให้มีความกะทัดรัด สามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสมกับหน้าประตูระบายน้ำ และคลองสาขา อีกทั้งสามารถขนย้ายได้ง่ายขึ้น และเพื่อเกิดความสะดวกในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและกรุงเทพมหานคร ที่ประสบปัญหาจากผักตบชวาที่ลอยอยู่ในแม่น้ำลำคลอง ซึ่งเป็นอุปสรรคกีดขวางทางน้ำไหล ทางสัญจรของเรือขนส่ง และต้องการให้เป็นคลองที่มีน้ำไหลใสสะอาด
โดยผลงานดังกล่าว เป็นการนำผลงานประดิษฐ์ และนวัตกรรมมาใช้ในการขับเคลื่อนพัฒนาชุมชนลำน้ำ เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยการพัฒนาคลองสาขาต่าง ๆ ให้เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีความสะอาด ปราศจากผักตบชวาและวัชพืชทางน้ำ ป้องกันการกีดขวางการไหลของน้ำให้คลองสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ สามารถไหลออกสู่แม่น้ำได้อย่างสะดวก ไร้อุปสรรค โดยเฉพาะคลองในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ไหลลงสู่กรุงเทพมหานคร อีกทั้งยังเป็นแหล่งเก็บกักและระบายน้ำในฤดูฝน
พร้อมกันนี้ยังจะมีประโยชน์ผลพลอยได้หลายอย่าง เช่น ปุ๋ย เชื้อเพลิง เยื่อสานจากผักตบชวา และการปลูกพืชน้ำอื่นๆ เช่น ผักบุ้ง รวมทั้งการเลี้ยงปลาด้วย และยังเป็นแหล่งค้นคว้าทดลองในการนำเทคโนโลยีที่ใช้ในการเรียนการสอนมาสร้างเป็นเครื่องมือที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้มีความสะอาด ที่สำคัญเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาอาชีวศึกษาได้มีองค์ความรู้ที่เรียนมา ในการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ดร.วิภารัตน์ กล่าวด้วยว่า ผลการเรือดังกล่าวเป็นต้นแบบลำแรกของประเทศ วช.ได้ส่งเสริมและให้กำลังใจ เกิดการเรียนรู้โนฮาวที่เป็นของเรา จะมีการพัฒนาและต่อยอดต่อไป เพื่อให้เรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากจะมีการต่อยอดทางวช.ก็ยินดีที่จะสนับสนุน เช่นสมรรถนะเชิงโครงสร้างของเรืออัดก้อนผักตบที่อาจต้องสร้างให้มีความแข็งแรงและใช้งานได้นานขึ้นรวมทั้งเชื้อเพลิง การทรงตัว อุปกรณ์อิเลคทรอนิคบางอย่าง ซึ่งทางวิทยาลัยฯเห็นปัญหาแล้ว จากการพัฒนาในเฟสแรก ซึ่งในเฟสที่สอง จะทำให้ตัวเรือมีความสมบูรณ์และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการต่อยอดให้มีการพัฒนาเรือต้นแบบนี้อย่่างไร ดร.วิภารัตน์ กล่าวว่า สามารถหาเครือข่ายผู้ประกอบการทางด้านเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาเรือต้นแบบถือเป็นการต่อยอดที่ทางวิทยาลัยสามารถดำเนินการได้ โดยได้มีการเก็บเอาปัญหาจากการที่เราได้นำเรือไปลงปฏิบัติสู่คลองจริง ทำให้เห็นปัญหาว่าจะพัฒนาตรงจุดไหนให้ดีขึ้นซึ่งวิทยาลัยรับทราบแล้ว นอกจากนี้อบต.ต่างๆในพื้นที่อยุธยารอขอที่จะซื้อเรือตัวนี้ไปใช้งานแล้ว แม้ว่าจะไม่เพอร์เฟคเท่าเรือต่างประเทศที่ราคา10กว่าล้าน แต่นี่เป็นภูมิปัญหาของคนไทยราคาต้นทุนเพียง1ล้านที่เราต้องส่งเสริมและสนับสนุนซึ่งสามารถทำงานได้หากจะมีหน่วยงานอื่นหรือบริษัทเอกชนสนใจที่จะต่อยอดนวัตกรรมนี้ทางวิทยาลัยฯสามารถทำได้ทางวช.ยินดี

0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น