pearleus

วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2556

คริสเตียนโพล เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน


ผู้ช่วยศาสตราจารย์  ดร.จันทร์จิรา  วงษ์ขมทอง  อธิการบดี  มหาวิทยาลัยคริสเตียน  เปิดเผยว่า  สถานการณ์การสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว เช่น เทศกาลปีใหม่ และเทศกาลสงกรานต์ เป็นช่วงเวลาที่มีประชาชนจำนวนมากใช้รถใช้ถนนในการเดินทางกลับภูมิลำเนาและ ท่องเที่ยว ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าช่วงปกติ จากข้อมูลของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ระหว่างปี 2553-2555 พบว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์มีอุบัติเหตุเฉลี่ยวันละ 469 ครั้ง และมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 45 คน หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่าจากช่วงปกติ จึงได้มอบหมายให้ฝ่ายวิจัยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง อุบัติเหตุทางการจราจรในเทศกาลสงกรานต์
             โดยได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่ในเขตภูมิภาคตะวันตกของประเทศ ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี และนครปฐม จำนวน 1,194 คน โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นชายร้อยละ 51.6 และหญิงร้อยละ 48.4 มีอายุระหว่าง 31-45 ปี ร้อยละ 40.3 เป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจจำนวน ร้อยละ 37.5 และเป็นเจ้าของกิจการ/ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 21.9
               การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในภูมิภาคตะวันตก เรื่อง อุบัติเหตุทางการจราจรในเทศกาลสงกรานต์ พบว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวน ร้อยละ 76.9 เห็นว่า ประชาชนต้องการให้มีการห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขณะขับขี่ หรือโดยสารยานพาหนะทุกประเภท และขณะอยู่ในที่สาธารณะ ประชาชน ร้อยละ 75.0 ต้องการให้มีการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น การควบคุมเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งมีประชาชน ร้อยละ 67.8 ต้องการให้มีการควบคุมการเล่นน้ำสงกรานต์บริเวณริมฟุตบาท ริมไหล่ทาง หรือท้องถนนที่มียานพาหนะสัญจรไปมา
               ประชาชนในเขตภูมิภาคตะวันตก ร้อยละ 74.9 คิดว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการจราจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากผู้ขับขี่ยานพาหนะขาดความรู้ความชำนาญในการขับขี่ ประชาชน ร้อยละ 72.9 เห็นว่า สภาพอากาศ ทัศนวิสัยไม่ดี ฝนตกหนัก ถนนลื่น และร้อยละ 72.1 เห็นว่า ผู้ขับขี่ขาดวินัยในการขับขี่ยานพาหนะ
              ประชาชนในเขตตะวันตก ร้อยละ 75.1 เห็นว่า วิธีที่จะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุทางการจราจรในช่วงเทศกาลสงกรานต์ได้ดี ผู้ขับขี่ยานพาหนะต้องใช้ความระมัดระวังมากที่สุดในการขับขี่ยานพาหนะ รองลงมา ประชาชน ร้อยละ 73.5 เห็นว่า ไม่สาดน้ำใส่รถยนต์ ผู้ขับขี่รถจักรยาน จักรยานยนต์ รวมทั้งร้อยละ 73.3 เห็นว่า ควรมีการปรับปรุงซ่อมแซมถนนที่ชำรุดสึกหรอ และจุดเสี่ยงอันตราย       ประชาชนเขตตะวันตก ร้อยละ 80.7 มีความเห็นว่า สิ่งที่ภาครัฐควรดำเนินการเพื่อให้การรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางการจราจรบรรลุ เป้าหมาย คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รักษากฎหมายต้องบังคับใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด ด้วยความเป็นธรรม และเสมอภาค รองลงมา ร้อยละ 77.7 เห็นว่า ควรมีการยกระดับมาตรฐานยานพาหนะให้ปลอดภัยโดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ รถโดยสาร และรถบรรทุก ร้อยละ 77.4 เห็นว่า ต้องรณรงค์เกี่ยวกับการใช้ยานพาหนะ และใช้ถนนให้เกิดความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุติดต่อกันไปอย่างต่อเนื่อง
              จะเห็นได้ว่าการขับขี่ยานพาหนะทุกประเภทเป็นการร่วมเส้นทางจราจรกับ ผู้อื่น ประชาชนทุกคนที่ขับขี่ยานพาหนะต้องทราบวิธีการขับขี่ที่ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ตามสภาพของถนน และการจราจร ประชาชนจึงมีความจำเป็นต้องทราบเทคนิคการควบคุมยานพาหนะ และวิธีการที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นบนท้องถนนให้ได้ ส่วนสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกมักเกิดจากพฤติกรรมของบุคคลเป็น ส่วนใหญ่ จึงสรุปได้ว่า สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุจราจรมักเกิดจากจากบุคคล และคนขับรถ  เช่น ขับโดยประมาท ขับเร็ว ขับขณะมึนเมา ใช้โทรศัพท์ขณะขับ สำหรับคนเดินถนนและข้ามถนน มักเกิดจากไม่ข้ามถนนตรงทางม้าลาย และสะพานลอย หรือข้ามตัดหน้ายานพาหนะระยะกระชั้นชิด ส่วนสาเหตุจากยานพาหนะ ได้แก่ การนำรถที่อุปกรณ์บกพร่องมาใช้ เช่น เบรก ไฟสัญญาณ กระจกส่องหลัง ที่ปัดน้ำฝน สาเหตุจากทาง และเครื่องหมายสัญญาณ ได้แก่ บริเวณทางแยก ทางโค้ง ทางชำรุด หรือเครื่องหมายสัญญาณชำรุด ท้ายสุดอาจมีสาเห­ตุจากธรรมชาติ ได้แก่ ฝนตกหนัก หรือหมอกลงจัด
              ประชาชนไทยจึงควรที่จะต้องขับยานพาหนะโดยต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่าง เคร่งครัด เนื่องจากไม่ใช่เป็นการใช้ถนนคนเดียว อีกทั้งไม่กระทำการใดๆ ที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุกับตนเอง หรือผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ โดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์อันเป็นเทศกาลแห่งความสุข และความรื่นเริง จึงควรระมัดระวังในเรื่องการเดินทาง และการขับขี่ยานพาหนะให้ปลอดภัย ปฏิบัติตามกฎจราจร เพื่อจะได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์ระหว่างญาติพี่น้อง และมิตรสหายได้อย่างเบิกบานใจ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น