pearleus

วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2560

มหาดไทยสั่งผู้ว่าทุกจังหวัดใช้ 7 มาตรการดูแลแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่

เมื่อ 16 ส.ค. 2560 นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและการบูรณาการขับเคลื่อนกลไกประชารัฐในระดับจังหวัดเพื่อช่วยสร้างเสริมความสงบสุขและความอยู่ดีมีสุขของประชาชนนับเป็นเรื่องสำคัญและเป็นภารกิจที่จำเป็นตามแนวทางการปฏิรูปประเทศให้ไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทุกมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการบริหารงานปกครองในพื้นที่
    ดังนั้น เพื่อเป็นการเร่งรัดให้การดำเนินงานด้านต่าง ๆ มีประสิทธิภาพ และเกิดสัมฤทธิ์ผลโดยเร็ว รวมทั้งเป็นการช่วยกันดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ควบคู่กันไป และเป็นการเสริมสร้างบรรยากาศที่ดีของบ้านเมืองเป็นสำคัญ  กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามแนวทาง 7 มาตรการ ดังนี้
     1. ตั้งแต่บัดนี้ไป ให้ทุกจังหวัดทบทวนมาตรการในการดูแลปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่อย่างเป็นระบบ รอบด้าน โดยให้จัดประชุมคณะกรรมการรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัด (กกล.รส.) หรือ คณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ที่ประกอบด้วย หน่วยงานพลเรือน/ตำรวจ/ทหาร เป็นประจำทุกสัปดาห์ หรือตามห้วงเวลาที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควร เพื่อให้นายอำเภอ/ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดและผู้แทนกอ.รมน.จังหวัด หรือผู้แทนกกล.รส.ประจำพื้นที่ได้ร่วมกันประเมินและติดตามข่าวสารอย่างรอบด้าน รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และรายงานสถานการณ์สำคัญๆ ภายในจังหวัดที่จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาของบ้านเมืองให้ที่ประชุมทราบ และร่วมกันกำหนดมาตรการสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหา เช่น ปัญหาการใช้สื่อสังคมปล่อยข่าวสร้างความสับสนหรือความไม่สงบในพื้นที่หรือแอบอ้างเชิญชวนประชาชนไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์อื่น ซึ่งอาจก่อให้เกิดการกระทำผิดกฎหมายหรือมีความเคลื่อนไหวอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่/การแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำท่วม/การแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ/ผลการปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผ่านศูนย์ดำรงธรรม เป็นต้น
     2. ให้ทุกจังหวัดนำข้อมูลตามข้อ 1 มาประมวลและทำการแยกแยะศึกษาวิเคราะห์ แล้วกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ยุติลงเป็นรูปธรรมในระดับพื้นที่ เพื่อมิให้ปัญหาลุกลามหรือขยายผลจนกลายเป็นประเด็นซับซ้อนยุ่งยากเกินไป อาทิ การให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงหรือมารายงานผลการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน หรือการจัดชุดปฏิบัติการฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองไปพบปะพูดคุยกับบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเป้าหมายก่อนเกิดเหตุ หรือป้องปรามการเคลื่อนไหวที่ส่งผลยุ่งยากหรือสร้างความเดือดร้อนต่อบุคคลอื่น ๆ เพื่อให้สามารถยุติหรือยกเลิกการเกิดเหตุหรือการเคลื่อนไหวที่กระทบต่อความสงบสุขในพื้นที่ โดยใช้การเจรจาแบบสมานฉันท์เพื่อให้เห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง เช่นเดียวกับกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องระดับจังหวัดได้เคยดำเนินการประสบผลสำเร็จมาแล้วในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2549 หรือในช่วงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา หรือการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าซึ่งจังหวัดสามารถดำเนินการได้ผลดีด้วยความเรียบร้อยมาแล้ว
     3. การดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ในข้อ 2 จังหวัดจะต้องพิจารณามอบหมายเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ และรู้ข้อมูลพื้นฐานเรื่องเดิมในพื้นที่มาก่อน หรือมีทักษะหรือมีความเข้าใจด้านจิตวิทยามวลชนที่ดี เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างถูกต้อง ลดความซับซ้อนของปัญหา สามารถเจรจาประสบผลสำเร็จ ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งประเด็นใหม่หรือสร้างความรุนแรงมากขึ้น
     4. ในการดำเนินการทุกขั้นตอน ให้จังหวัดมอบหมายเจ้าหน้าที่จัดทำบันทึกเป็นเอกสาร หลักฐานหรือการถ่ายภาพนิ่ง/ภาพเคลื่อนไหวหรือมีการลงบันทึกประจำวัน ระบุวันที่ พร้อมชื่อชุดเจ้าหน้าที่ที่ไปดำเนินการ/พบปะใคร ผลเป็นอย่างไร เพื่อให้มีหลักฐานในการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายในโอกาสต่อไปด้วย
     5. ขอให้ทบทวนแผนรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดและเครื่องมืออุปกรณ์ใช้งานตามแผนให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ทันทีในทุกกรณี โดยให้กำหนดตัวผู้บัญชาการเหตุการณ์ประจำพื้นที่ไว้ด้วย อย่าให้เกิดช่องว่างหรือบกพร่องเมื่อเกิดเหตุโดยเด็ดขาด
     6. ขอให้จังหวัดและอำเภอเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ให้ทราบข่าวสารข้อเท็จจริงต่าง ๆ อย่างถูกต้องใกล้ชิดและต่อเนื่อง ทั้งนี้ อาจใช้หอกระจายข่าวของหมู่บ้านหรือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง สถานีวิทยุชุมชน สถานีวิทยุโทรทัศน์ภูมิภาค สถานีวิทยุกระจายเสียง สถานีเคเบิลของภาคเอกชน หรือในช่วงเวลาการจัดการแสดงมหรสพและกิจกรรมต่าง ๆ เป็นช่องทางชี้แจงประชาชน หรืออาจใช้รถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่กระจายข่าวสารตามหมู่บ้านด้วยก็ได้ และให้พิจารณาใช้ช่องทางสื่อสารทางไลน์ (Line) เฟสบุ๊ค (Facebook) หรือยูทูบ (YouTube)ให้กว้างขวางเป็นประจำด้วย เพื่อสามารถทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ และสร้างการรับรู้ในเรื่องต่าง ๆ ที่ประชาชนอาจสับสนหรือเข้าใจไม่ถูกต้องและอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งที่รุนแรงได้
     7. ในช่วงนี้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอลงพื้นที่ด้วยตนเอง โดยให้นำเจ้าหน้าที่ด้านต่าง ๆ หรือกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกไปเยี่ยมประชาชน ดูแลแก้ไขปัญหาหรือความทุกข์ยากของประชาชนในพื้นที่ให้มากขึ้นเป็นลำดับ ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้เคยแจ้งแนวทางไว้แล้ว เช่น การดูแลผู้ด้อยโอกาสในสังคม ผู้พิการ หรือผู้ประสบสาธารณภัย หรือเด็ก เยาวชนที่เรียนดี แต่ขาดแคลนทุนการศึกษา เป็นต้น

    ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกิจการความมั่นคงภายใน เป็นผู้รับผิดชอบกำกับดูแล โดยมี สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และกรมการปกครอง เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบในการประสานงานกับจังหวัดต่าง ๆ และได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งผู้ตรวจราชการกรมในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ติดตามรายงานผลการดำเนินการและปัญหาอุปสรรคอย่างใกล้ชิดเป็นกรณีพิเศษในช่วงเวลานี้ด้วย

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น