pearleus

วันศุกร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2568

คอลัมน์ สะพายกล้องส่องพระ สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์

วัดท่ากระบือศาสนสถานแห่งเทพเจ้าลุ่มน้ำท่าจีน

ตามประวัติวัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายจังหวัดสมุทรสาคร วัดท่ากระบือตั้งอยู่เลขที่ ๑๗ หมู่ ๕ ถนนรุ่งประชา ตำบลบางยาง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาครบริเวณริมแม่น้ำท่าจีน สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินสร้างวัด ๒๓ ไร่ ๑ งาน ๑๖ ตารางวา

เดิมมีชื่อว่าวัดท่าควาย สร้างมาประมาณ ๑๓๐ ปีได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อพ.ศ ๒๔๘๕ ไม่มีประวัติชี้ชัดเกี่ยวกับการก่อสร้างทราบเพียงว่าสร้างขึ้นในราวพ.ศ ๒๔๓๙ เล่ากันมาว่าเดิมเป็นสำนักสงฆ์มีพระเริ่ม พันธุ์ชาตรี เป็นเจ้าสำนักปกครองวัด ชาวบ้านเรียกว่า "สำนักสงฆ์ท่าควาย" เนื่องจากเป็นท่าขึ้นลงของพ่อค้าที่นำควายข้ามแม่น้ำท่าจีนมาขายให้กับชาวนาที่อยู่หลังวัด

ต่อมาราว พ.ศ ๒๔๔๑ หลวงพ่อรุ่ง พ่วงประพันธ์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสท่านได้ก่อสร้างพัฒนาวัดก่อสร้างเสนาสนะต่าง ๆ เช่นอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิ เป็นต้น ภายในวัดมีปูชนียวัตถุที่สำคัญคือพระประธานในอุโบสถม เป็นพระพุทธรูปนั่งปางสมาธิ พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ วิหารจตุรมุขประดิษฐานรูปหล่อหลวงพ่อรุ่งอยู่หน้าอุโบสถ ลานติสรานุสรณ์ (ลานจอดรถหน้าวัด) มีรูปหล่อหลวงพ่อรุ่งองค์ใหญ่ประดิษฐาน เป็นรูปหล่อเนื้อโลหะหน้าตักกว้าง ๙ เมตร ๙ เซนติเมตรสูง ๑๒ เมตร ๙ เซนติเมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ ๒๕๕๗ เสร็จเมื่อ พ.ศ ๒๕๕๙ มีพิธียกส่วนหัวใจหลวงพ่อรุ่งบรรจุใส่องค์ใหญ่ วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๕.๐๙ น นับเป็นองค์รูปหล่อโลหะใหญ่ที่สุดในโลก

วัดท่ากระบือมีเจ้าอาวาสปกครองวัดทั้งในอดีตและปัจจุบันคือ

๑. พระไพโรจน์วุฒาจารย์ (หลวงพ่อรุ่ง ติสสโร)

๒. พระครูสาครบุญวัฒน์ (หลวงพ่อหยัด กตปุญโญ)

๓. พระครูสิริสาครธรรม (พระมหาจำนงค์ คุณังโค)

โดยพระไพโรจน์วุฒาจารย์หรือหลวงปู่รุ่งถือเป็นเกจิอาจารย์แห่งยุคสงครามอินโดจีน ศักดิ์สิทธิ์เรืองเวทย์วิทยาคมได้ฉายา "เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำท่าจีน"

ประวัติหลวงพ่อรุ่งจากหนังสือตำนานหลวงพ่อรุ่งวัดท่ากระบือ พระเถราจารย์ผู้เข้มขลัง เป็นบุตรคนเดียวของนายพ่วง นางกิม พ่วงประพันธ์ เกิดวันเสาร์แรม ๘ ค่ำเดือน ๙ วันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ ๒๔๑๖ ที่บ้านหลังวัดน้อยนพคุณ อำเภอดุสิต กรุงเทพฯ ในวัยเด็กได้บวชเป็นสามเณรศึกษาภาษาไทยและภาษาขอมจนเมื่อมีอายุ ๒๑ ปีจึงได้บรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดน้อยนพคุณ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๓๗ โดยมีหลวงพ่อทัพเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการบัววัดใหญ่ทองเสน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการเคลือบเป็นอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "ติสสโร"

ขณะที่จำพรรษาอยู่นั้นได้เรียนวิชาวิทยาคมจากหลวงพ่อทัพในวิชาคาถาอาคมอักขระเลขยันต์ต่าง ๆ ในเวลานั้นพระร่วม พันธุ์ชาตรี ลูกศิษย์หลวงพ่อทัพอีกรูปหนึ่งได้มาสร้างสำนักสงฆ์ท่าควายริมแม่น้ำท่าจีน ตำบลท่าไม้ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร บ้านเกิดของท่านได้ลาสิกขาไป หลวงพ่อทัพจึงให้พระรุ่ง ติสสโรไปจำพรรษาและปกครองสำนักสงฆ์แทนซึ่งท่านได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น "วัดท่ากระบือ" พร้อมกับพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองเป็นวัดที่มีชื่อเสียงในกาลต่อมา

หลวงพ่อรุ่งได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ต่าง ๆ เป็นลำดับโดยเมื่อมพ.ศ ๒๔๘๒ เป็นพระครูรุ่ง พ.ศ ๒๔๘๙ เป็นพระครูไพโรจน์มันตาคม พ.ศ ๒๔๙๙ โปรดเกล้าฯเลื่อนขึ้นเป็นพระราชาคณะที่ "พระไพโรจน์วุฒาจารย์"

สิ่งพิเศษที่เล่าขานกันมาคือพระไพโรจน์วุฒาจารย์ท่านมีความเมตตากรุณาต่อทุกคน และเรืองวิทยาคมโดยได้ศึกษาสรรพวิชาอาคมจากเกจิอาจารย์หลายองค์ อาทิหลวงปู่ทอง อายะนะ วัดราชโยธา (กทม) ด้านพุทธาคมหลวงปู่ศข เกสโร วัดมะขามเฒ่า (ชัยนาท) หลวงพ่อเกิดวัดสุนทรประสิทธิ์ (กำแพง) ด้านวิปัสสนาธุระ หลวงพ่อหล่ำ วัดอ่างทองด้านคงกระพันชาตรี หลวงพ่อเซ่งวัดหงษ์อรุณรัศมี ด้านมหาอุด หลวงพ่อเชยวัดท่าควาย (สิงห์บุรี) ด้านพระปิดตาและวิชาถอน พระอาจารย์ปลั่งฆาราวาสผู้ขมังเวทย์

สำหรับวัตถุมงคลของพระผู้ทรงอภิญญาจิตแก่กล้าบารมีเข้มขลังมีอยู่หลายรูปแบบที่สร้างขึ้นในหลายวาระเช่นผ้ายันต์ ตะกรุดโทน ตะกรุดเก้าดอก เหรียญเนื้อทองคำ เงิน ทองแดงและอัลปาก้า มีคุณวิเศษในด้านต่างๆคือเมตตามหานิยม โชคลาภ แคล้วคลาดปลอดภัย และหน้าที่การงาน

พระไพโรจน์วุฒาจารย์หลวงพ่อรุ่งมรณภาพเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๐๐ เวลา ๐๑.๐๕ น. สิริอายุ ๘๕ ปี ๖๔ พรรษา ได้ชื่อว่าเป็นเทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำท่าจีน วัตถุมงคลของท่านเป็นที่นิยมของประชาชนนำมาใช้คุ้มครอง มีราคาตั้งแต่นับร้อยถึงนับล้านบาท

ปัจจุบันมีทางรถยนต์เข้าถึงวัดได้หลายเส้นทางทั้งจากอำเภอสามพรานจังหวัดนครปฐม ส่วนจังหวัดสมุทรสาคร จากอำเภอบ้านแพ้วใช้ถนน สค. 3011( บ้านแพ้ว - กระทุ่มแบน) แยกซ้ายเข้าถนนวัดบางยาง - วัดท่ากระบือ จากอำเภอเมืองสมุทรสาครและอำเภอกระทุ่มแบนใช้เส้นทางถนนเศรษฐกิจ 1 เลี้ยวซ้ายเข้าถนนวิรุณราษฎร์ ข้ามสะพานท่าจีน ๔ เลี้ยวซ้ายเข้าถนนวัดท่าไม้ - วัดท่ากระบือ และอีกเส้นทางหนึ่งซึ่งเป็นถนนตัดใหม่จากถนนสุคนธวิทข้ามสะพานท่าจีน ๗ (ข้างวัดดอนไ่ดี) เชื่อมถนนวัดดอนไก่ดี ถนนวิรุณราษฎร์ เลี้ยวซ้ายไปถึงวัดท่ากระบือ

ตลอดเส้นทางที่ขับรถผ่าน สองข้างทางร่มรื่นด้วยเรือกสวนที่ปลูกกล้วยไม้และผลไม้นานาชนิดส่งขายกรุงเทพมหานคร และทั่วประเทศ นักท่องเที่ยวสามารถหยุดแวะเรียนรู้วิถีชีวิตของเกษตรกรชาวสวน หรืออุดหนุนสินค้าการเกษตรได้ตลอดเส้นทาง

ระหว่างวันที่ ๒๒ - ๒๘ กันยายน ๒๕๖๘ วัดท่ากระบือจัดงานบำเพ็ญกุศลตคล้ายวันมรณภาพและปิดทองพระไพโรจน์วุฒาจารย์ (หลวงพ่อรุ่ง) และพระครูสาครบุญวัฒน์ (หลวงพ่อหยัด กตปุญโญ) อดีตเจ้าอาวาส มีมหรสพดนตรีชมฟรีตลอดงาน

(จองร้านค้า ๑๓ กันยายน ๒๕๖๘ เวลา ๐๘.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.)

ปรีชา ฐินากร

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น