เอกนัฏ ชงคดีไฟไหม้โรงงานเปลือกพลาสติกให้ DSI รับช่วงขุดรากถอนโคนขบวนการจีนเทาขนขยะอันตรายเข้าประเทศ พร้อมหาแนวทางผลักดัน “สมุทรสาครโมเดล”
เมื่อเวลา 10.00 น.ของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ,นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม,นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม,นายพรยศ กลั่นกรอง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ,นายสุนทร แก้วสว่าง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และคณะ ได้ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อติดตามความคืบหน้าในคดีเหตุไฟไหม้โกดังเก็บพลาสติกรีไซเคิล หมู่ที่ 6 ตำบลยกกระบัตร อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา รวมถึงแนวทางการป้องกันการลักลอบกระทำผิดในลักษณะเดียวกันของสถานประกอบการอื่นๆ ในจังหวัดสมุทรสาคร ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยในส่วนของทางจังหวัดสมุทรสาคร ก็มีนายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วย นายพุทธิกรณ์ วิชัยดิษฐ์ อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร นายพิรุณโรจน์ นาคดนตรี นายอำเภอบ้านแพ้ว ตลอดจนผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่ฯ ณ จุดเกิดเหตุ คือ ที่โกดังเก็บพลาสติกรีไซเคิล ของบริษัท เถิงต๋า พลาสติก แอนด์ เมทเทิล จำกัด มีนายฟูควน ลัว เป็นผู้เช่าอาคารโกดังต่อจากเจ้าของคนไทย ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของเทศบาลตำบลหลักห้า ทั้งนี้จากการตรวจสอบภายหลังเกิดเหตุพบว่า ผู้ให้เช่าและผู้เช่ามีการกระทำความผิดต่างๆ อาทิเช่น มีการก่อสร้างต่อเติมอาคารเพิ่มเติมในบริเวณพื้นที่เดียวกัน เป็นลักษณะโกดังให้เช่าอีก 4 หลัง โดยไม่ได้รับอนุญาต,มีการลักลอบประกอบกิจการเป็นอันตรายต่อสุขภาพโดยไม่ได้รับอนุญาต และเข้าข่ายประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต,ลักลอบดำเนินกิจการต้องห้ามดำเนินการในพื้นที่สีเขียว,มีการลักลอบนำเข้าสายไฟเก่าเข้ามาในพื้นที่เพื่อเข้าสู่กระบวนการแปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต,มีการแปรรูปและจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่เป็นไปตามมาตรฐาน สมอ. และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่ผิดกฎหมายเกือบทั้งหมด โดยนอกจากจะมีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ลักลอบประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม พรบ. โรงงาน พ.ศ. 2535 ม. 12 แล้ว ยังได้มีการตรวจยึดวัตถุดิบประกอบด้วย เศษสายไฟฟ้า และเศษพลาสติกที่บดย่อยแล้ว ปริมาณกว่า 4,000 ตัน ไว้ ณ ที่เกิดเหตุ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป จากนั้นคณะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ก็ได้เดินทางมาประชุมหารือกันอีกครั้งที่ห้องประชุมพันท้ายนรสิงห์ ศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ นอกจากจะมาตรวจสอบจุดที่เกิดเหตุอีกครั้งแล้ว ยังเพื่อต้องการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดและพยานหลักฐานต่างๆ ให้ได้มากที่สุด พร้อมกันนี้ก็จะได้หารือร่วมกับทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI เพื่อส่งต่อคดีนี้ให้ไปอยู่ในความดูแลของ DSI เพราะถือเป็นคดีสำคัญระดับประเทศ และเชื่อว่ามีผู้ร่วมขบวนการเป็นเครือข่ายใหญ่ ซึ่งก็ต้องดำเนินการให้หมดทุกคนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะพวกนายทุนจีนสีเทาที่เข้ามายึดพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาคร
นายเอกนัฏฯ ยังเปิดเผยต่ออีกว่า ทั้งนี้ตนมุ่งหวังว่า หลังจากที่มีการดำเนินคดีในกรณีนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมถึงทุกภาคส่วนร่วมมือกันในการสอดส่อง ดูแล ป้องกัน และปราบปราม การกระทำความผิดของผู้ที่หวังแต่ผลประโยชน์หากินบนความทุกข์และความเดือดร้อนของประชาชนแล้วนั้น ต่อไปก็จะมีการขับเคลื่อนแนวทางผลักดันให้จังหวัดสมุทรสาคร เป็นจังหวัดต้นแบบ หรือ สมุทรสาครโมเดล ในเรื่องของการจัดระเบียบและการฟื้นฟูพื้นที่ๆ เคยได้รับผลกระทบจากโรงงานเหล่านี้ ให้กลับมามีคุณภาพชีวิต และคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นได้อีกครั้งหนึ่งโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยทั้งนี้หากพี่น้องประชาชนหรือท่านใดที่พบเห็นโรงงานอุตสาหกรรมลักลอบกระทำความผิด ก็สามารถแจ้งเบาะแสผ่าน APP “แจ้งอุต” ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทุกคนต้องร่วมกันขุดรากถอนโคนสิ่งเหล่านี้ให้หมดสิ้นไปจากพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และประเทศไทย
ด้านนายนริศ นิรามัยวงศ์ ผวจ.สมุทรสาคร ก็ได้ฝากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้ช่วยหามาตรการที่จะสามารถสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานบางหน่วยงาน ให้มีอำนาจตามกฎหมายในการเข้าถึงการตรวจจับโรงงานหรือกลุ่มผู้ลักลอบการกระทำความผิดในลักษณะเช่นนี้ ไม่ใช่มีเพียงแค่เจ้าหน้าที่ของอุตสาหกรรมเท่านั้น และขอให้มีการเร่งรัดจัดการกับของกลางที่ตรวจยึดไว้ เนื่องจากหากปล่อยไว้นานของกลางอาจเกิดการสูญหายบางส่วนได้ หรือ อาจจะทำให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำขึ้นได้อีก นอกจากนี้ในส่วนของการขออนุญาตเปิดโรงงานหรือโกดัง หรือสถานประกอบการที่มีความล่อแหลมต่อการลักลอบกระทำความผิดฯ ก็ควรมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาก่อนที่จะออกใบอนุญาต เป็นต้น
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น