pearleus

วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

๑๒๐ ปี เฉลิมฟ้าส่องแผ่นดินท่าฉลอม สาครบุรี

             

         จังหวัดสมุทรสาครได้ชื่อในประวัติศาสตร์ว่าเป็นที่จัดตั้งสุขาภิบาลท้องถิ่นแห่งแรกของสยามในรัชกาลที่ ๕  คือสุขาภิบาลท่าฉลอมเมื่อปี ร.ศ. ๑๒๔ พ.ศ ๒๔๔๘  ซึ่งเป็นแบบอย่างการจัดตั้งสุขาภิบาลกระจายไปทั่วประเทศ

   ความจริงสุขาภิบาลได้มีการจัดตั้งมาก่อนหน้านี้แล้วในกรุงเทพฯ โดยในปี ร.ศ. ๑๑๖ พ.ศ ๒๔๔๐  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้พระราชทานพระราชดำริในการกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่นขึ้นโดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ประกาศใช้พระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ ๑๑๖ ขึ้น จากการที่ทรงมอบหมายให้พระราชโอรสและข้าราชบริพารไปศึกษาดูงานการปกครองในแถบประเทศที่ปกครองโดยชาติที่เจริญแล้ว ได้แก่พม่า มลายู และในยุโรป โดยได้เริ่มทำการทดลองเพื่อเป็นการศึกษาขึ้นในกรุงเทพฯ

        สุขาภิบาลในชั้นต้นมีหน้าที่ตามพระราชกำหนดคือกำจัดทำลายขยะมูลฝอย กำจัดเก็บที่ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะของประชาชนทั่วไป  จัดการห้ามต่อไปภายภาคหน้าอย่าให้ปลูกสร้างหรือซ่อมโรงเรืยนที่จะเป็นเหตุให้เกิดโรค  ขนย้ายสิ่งของโสโครกและสิ่งรำคาญของมหาชนให้พ้นไปเสีย    แต่การบริหารงานของสุขาภิบาลกรุงเทพฯดำเนินการโดยข้าราชการทั้งหมดโดยกรมสุขาภิบาล สังกัดกระทรวงนครบาล  มีเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ควบคุม

    ปฐมบทแห่งการปกครองท้องถิ่นไทย โดยประชาชนในท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการเกิดขึ้นที่ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร  เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมีหนังสือตราน้อยที่ ๒๐ /๓๙๙๐  ลงวันที่ ๒ สิงหาคม  ร.ศ. ๑๒๔  ถึงพระยาพิไชยสุนทร  ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร  ความว่า  " ด้วยเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๔  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(ร๕) เสด็จออกที่ประชุมเสนาบดีมีรับสั่งถึงที่ได้ไปประพาสเมืองนครเขื่อนขันธ์ (เมืองพระประแดง สมุทรปราการ)  เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคมไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัยที่ได้ทอดพระเนตรเห็นถนนแลตลาดในเมืองนครเขื่อนขันธ์โสโครกมาก รับสั่งว่าสกปรกเหมือนตลาดท่าจีน ฉันนั่งอยู่ในที่ประชุมรู้สึกละอายใจมากที่เมืองนครเขื่อนขันธ์จะสกปรกหรือสะอาดก็ไม่ใช่เรื่องธุระของเรา แต่ความสกปรกของตลาดท่าจีนซึ่งสกปรกจริงสำหรับเป็นที่ยกตัวอย่างเทียบที่อื่นที่ไม่พอพระราชหฤทัยเช่นนี้ก็เสมอกริ้วตลาดท่าจีนด้วยเหมือนกัน..."      สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครดำเนินการให้กำนันผู้ใหญ่บ้านและประชาชนในชุมชนจัดการประสาทจัดถนนในตลาดท่าจีนให้หายโสโครกให้ได้


           พระยาพิไชยสุนทร (จร)  เมื่อได้รับหนังสือสั่งการแล้วจึงได้เชิญกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และพ่อค้าชาวจีนในตลาดท่าฉลอมมาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาหาทางปรับปรุงแก้ไขซึ่งได้ข้อสรุปว่าประชาชนและพ่อค้าชาวจีนยินดีที่จะออกเงินซื้ออิฐปูถนนและขอให้ทางราชการเป็นผู้ทำถนนโดยใช้แรงงานนักโทษทำการปรับปรุงพื้นดิน  สำหรับการเก็บกวาดขยะมูลฝอยไปเททิ้ง  มีลูกจ้างเทขยะมูลฝอย ๒ คน  ค่าจ้างคนละ/เดือนละ  ๒๐  บาท สำหรับการก่อสร้งถนนได้เงินจากการเรี่ยไรเป็นเงิน ๕,๔๗๒ บาท ปรับปรุงเป็นถนนปูด้วยอิฐ  มีทางระบายน้ำทั้ง ๒ ข้างทาง  กลางถนนยาว ๓๔ เส้น   ตั้งเสาติดโคมไฟ (ตะเกียงในกระจกสี่เหลี่ยม) ระยะห่าง ๑๐ วา จำนวน ๗๐ โคม เพื่อให้แสงสว่างในเวลากลางคืน  มีลูกจ้างจุดไฟและเติมน้ำมันตะเกียง ๒ คน ค่าจ้างคนละ/เดือนละ ๒๐ บาท 


หลังจากได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทำรายงานทูลเกล้าถวายต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ  และทรงมีพระราชหัตถเลขาที่  ๗๕/ ๖๘๑  มีความว่าวันที่ ๑๗  สิงหาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔ ถึงกรมหลวงดำรงราชานุภาพด้วยได้รับหนังสือที่มีมายังกรมขุนสมมตอมรพันธ์ ที่ ๘๕๖/ ๔๔๙๙ ลงวันที่วานนี้ ส่งสำเนาท้องตราและสำเนาใบบอกพระยาพิไชยสุนทรว่าได้จัดการตลาดเมืองสมุทรสาครให้เป็นการสะอาดนั้นทราบแล้ว  มีความยินดีที่ได้ผลดีดังนี้ ถ้าสำเร็จเมื่อใดจะออกไปดูโดยทางรถไฟ สยามินทร " 



      

๑๘ มีนาคม พ.ศ ๒๔๔๘  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งสายปากคลองสาน -มหาชัย มายังตำบลท่าฉลอมเพื่อทรงเปิดถนนที่ประชาชนช่วยกันสละทรัพย์สร้างขึ้นโดยทรงพระราชทานนามถนนนี้ว่า  "ถนนถวาย"    พระราชทานเลื่อนและแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้ซึ่งได้เกี่ยวข้องจัดการสุขาภิบาลท่าฉลอมด้วยโดย
   ๑.  ขุนประเทศภักดี (หรั่ง) กำนันตำบลท่าฉลอมเป็น "ขุนหลวงพัฒนาการภักดี
   ๒.  จีนเปียน   กรรมการพิเศษเมืองสมุทรสาครเป็น "ขุนพิจิตรนรการ"  ตำแหน่งกรมีการเมืองฯ
   ๓.  จีนแดง  ผู้ใหญ่บ้านท่าฉลอมเป็น  "ขุนพิจารณ์นรกิจ"  ตำแหน่งกรมีการเมืองฯ
   ๔.  จีนยี้   ผู้ใหญ่บ้านท่าฉลอมเป็น  "ขุนพินิจนครการ"  ตำแหน่งกรมีการเมืองฯ

นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งกรรมการบริหารสุขาภิบาลชุดแรก  ประกอบด้วย
   ๑.  หลวงพัฒนาการภักดี (หรั่ง) กำนันตำบลท่าฉลอม
   ๒.  ขุนพิจารณ์นรกิจ  (จีนแดง)  ผู้ใหญ่บ้านท่าฉลอม
   ๓.  ขุนพิจิตรนรการ  (จีนเปียน)  กรมการเมืองสมุทรสาคร
   ๔.  ขุนพินิจนรการ  (จีนยี้)  ผู้ใหญ่บ้านท่าฉอม
   ๕.  จีนอู๊ด
   ๖.  จีนโป้
   ๗.  จีนสุข
   ๘.  จีนมัก
   ๙.  จีนเน่า


                  

  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกภาษีร้านค้าที่จัดเก็บได้ปีละประมาณ ๑,๙๒๙ บาท ให้ใช้จ่ายในการสุขาภิบาลท่าฉลอม โดยมีพระราชดำรัสตอบในพิธีเปิดถนนว่า  "......การที่จะรักษาถนนราษฎรทั้งหลายได้ออกทุนทำครั้งนี้ ถ้าจะทิ้งไว้คอยซ่อมเมื่อชำรุดมากก็จะเหมือนอย่างทำใหม่ และยังจะต้องรับความลำบากก่อนเวลาที่ได้ซ่อมใหม่ไปช้านาน เพราะฉะนั้นเราได้ยอมยกภาษีเรือ โรงร้านเฉพาะตำบลท่าฉลอมนี้ให้เป็นเงินรักษาถนนให้สะอาดบริบูรณ์อยู่เสมอ และจัดการให้เป็นที่สะดวกตามทุน จะทำได้ให้ผู้ซึ่งอยู่ในท้องที่จัดการรักษาเอง เมืองนี้เป็นผู้ที่ได้พยายามทำถนนโดยลำพังราษฎรในท้องที่เป็นครั้งแรกคงจะจัดการรักษาถนนตามที่อนุญาตให้ทำได้สำเร็จดีเป็นครั้งแรกเหมือนกัน จะได้เป็นเยี่ยงอย่างแก่เมืองอื่นสืบไป....."   นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อการปกครองท้องถิ่นรูปแบบการปกครองตนเองของปวงชนชาวตำบลท่าฉลอม  ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากประชนเป็นอย่างมากเห็นได้จากการที่สมุหเทศาภิบาลหลายแห่งขอนำไปใช้ในพื้นที่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ต่อมาสุขาภิบาลตำบลท่าฉลอมได้เปลี่ยนการจัดการเป็นสุขาภิบาลเมือง ตามพระราชบัญญัติการจัดการศุขาภิบาลหัวเมือง  ศก ๑๒๗  เฉพาะในเขตตำบลท่าฉลอมได้รวมตำบลตำบลที่มีเขตติดต่อรวม ๕ ตำบล ได้แก่ตำบลมหาชัย ตำบลท่าจีน ตำบลบางหญ้าแพรกตำบลโกรกกราก   ประกาศราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๓๓ หน้า ๒๗๔  วันที่  ๒๔  ธันวาคม ๒๔๕๙ จัดตั้งเป็นเทศบาลเมืองสมุทรสาคร เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๗๘  ประกาศราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๕๒ วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๗๘

       ปัจจุบันจัดตั้งเป็นเทศบาลนครสมุทรสาคร เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๒   ประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับพระราชกฤษฎีกาเล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๑๑๐ ก วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ จังหวัดสมุทรสาคร และเทศบาลนครสมุทรสาคร จะจัดพิธีวางพวงมาลาถวายสักการะ ถวายราชสดุดีและถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ณ บริเวณหน้าวัดสุทธิวาตวราราม (ช่องลม)  ในวันที่ ๑๘ มีนาคม ทุกปี


.
.
.
.
.
ปรีชา  ฐินากร



0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น