ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24-25 พ.ค.61 "ชี้ชัดเจาะลึก"มีโอกาสเดินทางตามรอยงานศิลปหัตถกรรมไทย ถิ่นอีสานใต้ จังหวัดสุรินทร์และบุรีรัมย์ โดยการนำของนางอัมพวัน พิชาลัย ผอ. ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ หรือ SACICT เพื่อให้สื่อมวลชนได้สัมผัสกับประสบการณ์ตรงจากผลงาน เทคนิค หัตถศิลป์อันหลากหลายจากครูช่างศิลป์ และทายาทช่างศิลป์ ซึ่งนับวันจะหาผู้สืบสานได้ยากยิ่งขึ้น
โดยผอ.อัมพวัน กล่าวว่า งานศิลปหัตถกรรมถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของชาติ ที่มีการถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์และกระบวนการสร้างสรรค์งานผ่านช่างฝีมือที่มีความรู้ความชำนาญจากรุ่นสู่รุ่น หากแต่ความรู้เหล่านี้ไม่มีการบันทึกหรือเก็บรวบรวมไว้ให้เป็นรูปธรรม จะลบเลือนและสูญหายไปตามกาลเวลา ดังนั้น SACICT ในฐานะเป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ สืบสาน และรวบรวมผลงานหัตถศิลป์ไทยให้คงอยู่ในวิถีชีวิตปัจจุบัน ได้ดำเนินการสืบค้นและให้ความสำคัญกับบุคคลที่มีความรู้ความสามารถที่ได้รักษาและถ่ายทอดมรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลผู้ที่ทรงคุณค่าเหล่านี้เป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน เพื่อเผยแพร่คุณค่าของผลงานหัตถศิลป์สู่ผู้สนใจในงานศิลปะหัตถกรรมทั้งเยาวชนและสาธารณชน ตลอดจนเป็นการเก็บรักษาข้อมูลภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมของครูช่าง เหล่านี้ไว้ ได้รู้จักอย่างกว้างขวางเพื่อเป็นแหล่งความรู้แม่แบบ ถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลังสืบต่อไป



อีกแหล่งเป็นบ้านครูสุรโชติ ตามเจริญ สัมผัสกับความวิจิตรของ งานผ้าโฮลแบบโบราณ ผ้าโฮล เป็นผ้าไหมมัดหมี่ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเชื้อสายเขมรในจังหวัดสุรินทร์ ถือเป็นลายเอกลัษณ์ของลายผ้าไหมมัดหมี่จังหวัดสุรินทร์ “โฮล” เป็นคำในภาษาเขมร เป็นชื่อเรียกกรรมวิธีการผลิตผ้าไหมที่สร้างลวดลายขึ้น มาจากกระบวนการมัดย้อมเส้นไหมให้เกิดสีสันและลวดลาย ก่อน จึงนำมาทอเป็นผืนผ้า ซึ่งตรงกับคำว่า “ผ้าปูม”ในภาษาไทยและคำว่า “มัดหมี่”ในภาษาลาว
ครูสุรโชติ ตามเจริญ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2559 ผู้อนุรักษ์ มีความชำนาญในการมัดลายและการย้อมสีจากธรรมชาติ ผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมช่วยให้สีติดสวยโดยใช้ครั่งย้อมร้อนใส่ใบเหมือดแอ ใบชงโค ใบมะขาม สีเหลือง ย้อมด้วยมะพูดผสมกับแก่นเข จนได้เป็นสีเหลืองทองอร่ามตา และย้อมครามด้วยวิธีย้อมเย็น ทำให้ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของผ้าโฮลที่มีสีสดสวย และลวดลายมัดหมี่ที่โดดเด่นของภาคอีสาน โดยรักษาเอกลักษณ์ของลวดลายกรวยเชิงลายหมาแหงน ลายปะกากะตึบเครือ ลายดอกทับทิม และลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ไว้ได้อย่างสมบูรณ์

สุดท้ายได้เยี่ยมชมงานทอผ้าไหมมัดหมี่ (ซิ่นตีนแดง) ของครูรุจาภา เนียนไธสง ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2557 จังหวัดบุรีรัมย์ มีความชำนาญในการทอผ้าไหมมัดหมี่จุดเด่น คือ เลี้ยงไหมและสาวไหมเอง ซึ่งเป็นไหมไทยพื้นบ้าน ใช้การสาวลงตะกร้าด้วยมือจนได้รับพระราชทาน ตรานกยูงทองจากกรมหม่อนไหม ลายที่โดนเด่นคือลายนกยูงทอง ใช้เทคนิคใหม่การทอผสมผสานกับการเขียนทองสร้างมิติของลวดลายได้อย่างน่าสนใจ


โดยครูรุจาภา เล่าว่า เรื่องเล่าสืบทอดกันมาว่า ผ้าซิ่นตีนแดงในยุคแรกจะเป็นงานประณีตศิป์ที่เกิดขึ้นในจวนเจ้าเมืองในสมัยพระยาเสนาสงครามเป็นเจ้าเมืองพุทไธสง เมื่อ 200 ปีมาแล้ว ท่านมีคำสั่งให้กลุ่มสตรีในจวนทอผ้าซิ่นตีนแดงขึ้นเพื่อนำไปมอบให้ภรรยาของท่าน เมื่อมีงานพิธีต่างๆ ภรรยาของท่านจึงสั่งให้สตรีในจวนนุ่งซิ่นตีนแดงเหมือนกันทุกคน ทำให้เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น
เมื่อเจ้าพระยาตระกูลเสาไทยสงผู้สืบเชื้อสายต่อจากพระยาเสนาสงคราม ได้นำองค์ความรู้เกี่ยวกับการทอผ้าซิ่นตีนแดงออกมาเผยแพร่ให้รุ่นลูก หลาน การทอจึงเริ่มกระจายไปตามหมู่บ้านใกล้เคียง รวมถึงบ้านนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ จึงเป็นแหล่งที่สร้างสรรค์งานหัตถกรรมผ้าซิ่นตีนแดงที่มีชื่อเสียง
ผ้าซิ่นตีนแดงในอดีตเป็นผ้าที่มีราคาแพง เนื่องจากต้องอาศัยช่วงที่ว่างเว้นจากการทำนามานั่งทอผ้า ขั้นตอนการทำนาสมัยก่อนยุ่งยากกว่าปัจจุบันมาก เมื่อผ่านมาเป็นยุคสมัยที่มีเครื่องจักรเข้ามาช่วยเหลือให้การทำนามีความสะดวก รวดเร็วขึ้น ใบหม่อนเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ให้มีใบใหญ่ขึน จากที่เป็นผ้าสำหรับผู้มีฐานะ ปัจจุบันกลายเป็นผ้าที่คนทั่วไปสามารถหามาสวมใส่ได้
อย่างไรก็ตามผอ.อัมพวัน กล่าวว่า SACICT ดำเนินการค้นหาและคัดสรรช่างผู้มีภูมิปัญญาด้าน งานศิลปหัตถกรรมไทย โดยการเชิดชูเป็นครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม รวมแล้วทั้งสิ้น 366 คน โดยแบ่งเป็น ครูศิลป์ของแผ่นดิน จำนวน 85 คน ครูช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 217 คน และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม จำนวน 64 คน

0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น