pearleus

วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

สสวท.นำเยี่ยมชั้นเรียนวิทยาการคำนวณ ตามมิติใหม่หลักสูตรไทย-สอนให้คิดอย่างมีระบบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด  กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และสาระภูมิศาสตร์ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 แล้ว เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2560  โดยสิ่งที่เปลี่ยนแปลงชัดเจนคือวิชาการคำนวณ (Computing scienc)ได้เข้ามาแทนที่วิชาคอมพิวเตอร์หรือเทคโนโลยี โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) ได้พัฒนาสื่อการเรียนรู้วิชาการออกแบบและเทคโนโลยี และวิชาวิทยาการคำนวณ โดยปรับรูปแบบสื่อเรียนรู้เป็นสื่อภาพการ์ตูน ที่ให้ความรู้ กระบวนการคิด การแก้ปัญหา กระตุ้นให้นักเรียนอยากรู้และค้นหาคำตอบ รวมทั้งมี QR Code ที่เชื่อมโยงไปยังแหล่งเรียนรู้และสื่อที่น่าสนใจ เพื่อผลิต จำหน่าย และเผยแพร่ให้เริ่มใช้ในปีการศึกษา 2561 โดยในปีนี้เริ่มใช้ในชั้น ป.1,ป.4 และ ม.1, ม.4  ส่วนปีหน้าชั้น ป.2, ป.5 และ ม.2, ม.5  และ  ปีถัดไป ชั้น ป.3,ป.6 และ ม.3, ม.6 ตามลำดับจนครบทุกชั้นเรียน
โดยเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.61  สสวท.จัดกิจกรรมนำสื่อลงพื้นที่เยี่ยมชมชั้นเรียนวิทยาการคำนวณ ณ โรงเรียนหนองเสือวิทยาคม  จ.ปทุมธานี หนึ่งในโรงเรียนที่ได้จัดการเรียนการสอนดังกล่าว และนำแนวทางของ สสวท. ไปปรับใช้ในชั้นเรียน ซึ่งเป็นการจุดประกายให้ครูและนักเรียนได้สนุกกับการเรียนการสอนที่ท้าทายความคิด จินตนาการ และเชื่อมโยงไปสู่ชีวิตประจำวันมากขึ้น
ศ.ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผอ.สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) ใ
นกำกับกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สสวท.พัฒนาหลักสูตร หนังสือเรียน สื่อ ตลอดจนส่งเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้นักเรียนพัฒนาตามศักยภาพอย่างยั่งยืน โดยกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้เพิ่มสาระเทคโนโลยีเป็นสาระที่ประกอบด้วย วิชาการออกแบบและเทคโนโลยีและวิชาวิทยาการคำนวณซึ่งปรับเปลี่ยนจากเดิมที่สอนให่เป็นผู้ใช้(user) สู่การเป็นผู้มีทักษะกระบวนการคิดอย่างมีระบบ สามารถใช้ความรู้พัฒนาการทำงาน สร้างนวัตกรรมที่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ชีวิตและอนาคตได้  สิ่งที่เปลี่ยนไปในวิชานี้คือนักเรียนจะไม่ได้เรียนแค่โปรแกรมพื้นฐานของคอมพิวเตอร์ หรือเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์แค่ขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่สอนให้นักเรียนมีกระบวนการคิดแก้ปัญหา และการคิดเชิงวิเคราะห์อย่างเป็นระบบและสามารถนำมาปรับใช้เพื่อแก้ไขปัญหาในชีวิตจริงได้อย่างสร้างสรรค์
อย่างไรก็ตามการรู้ดิจิทัล(digital literacy) เป็นทักษะเกี่ยวกับการรู้เท่าทันสื่อและเทคโนโลยีดิจิทัล แยกแยะได้ว่าข้อมูลใดเป็นความจริงหรือความคิดเห็น โดยเฉพาะข้อมูลบนสื่อสังคมออนไลน์  ยังเป็นเรื่องของความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ รู้กฎหมายและลิขสิทธิ์ทางปัญญาต่างๆ เพื่อให้เด็กใช้ช่องทางนี้ได้อย่างรู้เท่าทันและปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งเน้นการนำรูปแบบของโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาสอนอย่างเหมาะสมตามพัฒนาการแต่ละวัย เด็กเล็กเน้นสื่อการเรียนรู้ประเภท Unplugged (เขียนโปรแกรมโดยไม่ใช้คอมพิวเตอร์)เช่น แบบฝึกหัด การ์ดคำสั่ง บอร์ดเกม เป็นต้น และค่อยๆ ปรับสื่อการเรียนรู้ให้เหมาะสมขึ้นตามระดับชั้นปี เช่น ป.4 ให้เรียนเขียนโปรแกรมอย่างง่ายผ่าน Scratch เป็นต้น
หนังสือเรียนวิชาวิทยาการคำนวณในระดับประถมศึกษา ของ สสวท. นั้น นักเรียนจะได้เรียนเนื้อหาผ่านเรื่องราวของตัวละครเอก โป้ง ก้อย และอิ่ม รูปเล่มมีสีสัน สดใส  มีการเล่าเรื่องที่สนุกสนาน เหมือนกำลังอ่านหนังสือการ์ตูน สามารถแบ่งออกได้ดังนี้ ชั้นประถมศึกษาตอนต้น เน้นการแก้ไขปัญหาอย่างง่าย โดยใช้สื่อการเรียนรู้ประเภทต่างๆ เข้ามาช่วยสอน เช่น แบบฝึกหัด การ์ดคำสั่ง บอร์ดเกม ภาพวาด หรือสัญลักษณ์
ชั้นประถมศึกษาตอนปลาย เน้นการออกแบบและการเขียนโปรแกรมอย่างง่ายผ่าน Scratch เป็นการนำซอฟต์แวร์หรือสื่อการเรียนการสอน เรียนรู้วิธีการค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสม ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เน้นการออกแบบและการเขียนโปรแกรมอย่างง่าย เพื่อเป็นการฝึกแก้ไขปัญหาทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ไปพร้อมๆ กัน ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเป็นการประยุกต์ใช้แนวคิดเชิงคำนวณ เพื่อนำไปใช้ในการบูรณาการกับโครงงานวิชาอื่นๆ อย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพมากที่สุด ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สาขาเทคโนโลยี สสวท. http://oho.ipst.ac.thติดตามข่าวสารต่างๆ ได้ที่เฟซบุ๊กวิชาวิทยาการคำนวณ www.facebook.com/oho.ipst/



******************

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น