pearleus

วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เยือนวิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง นนทบุรี - อยุธยา - สิงห์บุรี – อ่างทอง..ไปแล้วจะรัก..


กรมการพัฒนาชุมชนโดยภารกิจนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการเข้าถึงบริการของรัฐ เน้นการ สร้างโอกาส อาชีพและการมีรายได้ที่มั่นคงโดยการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เกิดความเข้มแข็ง โดยการพัฒนาเส้น ทางการท่องเที่ยว 8 เส้นทาง 31 จังหวัด 125 หมู่บ้าน บนพื้นฐานของอัตลักษณ์และภูมิปัญญาพื้นถิ่น วัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิมของชุมชน สู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวดึงดูดใจนักท่องเที่ยวเข้าสู่ชุมชนเพื่อสร้างรายได้สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์โครงการไทยนิยม ยั่งยืน ที่มีกลไกการขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับชาติสู่ระดับพื้นที่ มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในรูปแบบประชารัฐ โดยการวิเคราะห์ปัญหาความต้องการของประชาชน 









                กรมการพัฒนาชุมชน นำสื่อลงพื้นที่เยี่ยม หมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว (OTOP Village) เพื่อการประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายและประชาชนทั่วไปเกิดการรับรู้ รับทราบ เข้าใจ มีทัศนคติที่ดีและมีความเชื่อมั่นไว้วางใจในด้านภาพลักษณ์ของกรมการพัฒนาชุมชนและภาพลักษณ์การดำเนินงานโครงการฯจนนำไปสู่การเชื่อมโยงเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนหรือเกิดความร่วมมือกับองค์กรในการพัฒนาต่อยอด เสริม
ความแกร่งให้เศรษฐกิจฐานรากมั่นคง
                วันที่ 29-30 ตุลาคม 2561 กรมการพัฒนาชุมชน นำสื่อมวลชนจัดกิจกรรม Press Tour  เส้นทางที่ 5 :ใน
วิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง นนทบุรี - อยุธยา - สิงห์บุรี อ่างทอง เริ่มต้นเดินทางไปยังหมู่บ้านมอญลงเรือ
ข้ามฟาก ที่วัดกลาง ไปยังหมู่บ้านมอญเกาะเกร็ด  สักการะวัดฉิมพลี ชมศูนย์หัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา  เยี่ยมชม
วิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์สมุนไพรชาวบ้าน  ชมการทำขนมหันตา  แวะบ้านจ่ามงกุฎ   สักการะศาลเจ้าพ่อหนุ่ม สัก
การะวัดปรมัยยิกาวาส ไปยังหมู่บ้านโอ่งอ่าง สักการะวัดไผ่ล้อม ชมพระอุปคุต พระบัวเข็ม จำลองเจดีย์ชเวดากอง
หมู่บ้านเสาธงทอง สักการะวัดเสาธงทอง แล้วเดินทางจากวัดเสาธงทอง ข้ามฟากไปยังวัดบางจาก  
                สำหรับเกาะเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นหมู่บ้าน OTOP ต้นแบบภาคกลาง (Knowledge-based Village Cluster)
เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ในด้านการผลิตสินค้าหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาที่
เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยมอญที่ได้สืบทอดกันมายาวนาน ซึ่งหมู่บ้านโอ่งอ่าง เป็นหมู่บ้าน OTOP Village Champion ที่นี้มีการขายของย้อนยุคในสมัยโบราณหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นขนมไทยสมัยโบราณหาทานยาก การทำขนมมงคล
หม้อดินเผา เครื่องปั้นดินเผา ขนมน้ำตาลปั้นที่ปั้นเป็นรูป ดอกไม้ ตุ๊กตา สัตว์ต่างๆ ที่นี่นักท่องเที่ยวจะได้ชมวิถีชีวิต
ริมน้ำและชุมชนชาวมอญที่มีชื่อเสียงและโดดเด่นและมากล้นไปด้วยเสน่ห์ที่สุดแห่งหนึ่ง
                สักการะวัดไผ่ล้อม  วัดที่สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย มีปูชนียสถานที่สำคัญ คือ อุโบสถ เป็นโบสถ์สมัย
อยุธยาที่งามมากแห่งหนึ่ง มีการซ่อมครั้งใหญ่สมัยรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 3 ลายจำหลักไม้ที่หน้าบันเป็นลายดอกไม้สาหร่ายและรวงผึ้งแกะสลักไม้   มีคันทวยและบัวหัวเสาที่งดงามมาก  คนมอญเรียกวัดนี้ว่า "เพี๊ยะโต้" ข้างวัดไผ่
ล้อมมีวัดเก่าแก่ที่รักษาไว้ คงสภาพเดิม ทำจากไม้ 
                วัดไผ่ล้อมตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างวัดปรมัยยิกาวาส กับวัดเสาธงทอง  สำหรับคนที่มาเที่ยวเกาะเกร็ดไม่ว่าจะข้ามฟากมาวัดปรมัยยิกาวาส หรือข้ามมาทางวัดเสาธงทอง ก็จะต้องผ่านวัดไผ่ล้อม ซึ่งอายุของวัดทั้ง 3 ใกล้เคียงกันแต่การบูรณะแตกต่างกัน ทำให้ดูว่าวัดไผ่ล้อมเป็นวัดใหม่ หน้าวัดสร้างหงส์คู่ขนาดใหญ่ ยังมีเจดีย์คู่อยู่ 2ข้างของทางเดินเข้าหาโบสถ์ ที่อยู่ตรงกลางพอดีพระอุปคุต  ที่โบสถ์ มีพระอุปคุตแกะสลักจากไม้ทั้งองค์อยู่หน้าสุดเชื่อกันว่าการได้กราบไหว้พระอุปคุตจะเป็นสิริมงคลด้านโชคลาภ ด้านในยังมีสมเด็จพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี อยู่หน้าพระพุทธชินราช  มีเจดีย์ชเวดากอง  องค์จำลอง ที่สร้างได้สวยงามมาก รอบๆด้านมีกำแพงแก้ว มีซุ้มประดิษฐานพระอยู่หลายองค์ ได้แก่ พระสังกัจจายน์ พระสิวลี พระบัวเข็มไม้แกะสลักทั้งองค์ พระแม่ธรณี เจ้าแม่กวนอิม เป็นต้น

                กิจกรรมหลักที่ขาดไม่ได้คือการไหว้พระขอพร วัดต่างๆที่มีอยู่โดยรอบเกาะตามชุมชนต่างๆ และนักท่อง
เที่ยวทุกคนไม่พลาดคือ สักการะวัดปรมัยยิกาวาส หรือชื่อเดิมว่า วัดปากอ่าว โดดเด่นด้วยเจดีย์มุเตาสัญญลักษณ์ของ
เกาะเกร็ด  เป็นวัดโบราณสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เนื่องจากที่ตั้งของวัดอยู่ตรงคุ้งน้ำ บริเวณทางแยกคลองลัด
เกร็ด กับแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหัวมุมเกาะเกร็ด ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จึงเรียกวัดนี้ว่า วัดปากอ่าว แต่ชาว
มอญ เรียกวัดนี้ว่า เพี่ยะมุ๊ฮะเติ่ง แปลว่า วัดหัว(มุม)แหลม  ซึ่งภายใน มีพระมหารามัญเจดีย์ และวิหารพระไสยาสน์
ที่มีความสวยสดงดงามเป็นอย่างยิ่ง และที่ท่าเรือวัดจะพบปราสาทไม้ห้ายอดซึ่งเคยเป็นที่ตั้งเหม (โลงศพมอญ)ของอดีตเจ้าอาวาสตั้งตระหง่านอยู่ ส่วนพระอุโบสถมีการตกแต่งด้วยวัสดุนำเข้าจากอิตาลี ศิลปะยุโรปแบบพระราช
นิยมในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ยังรักษาธรรมเนียมเดิม โดยรับสั่งให้ที่นี่ริเริ่มการสวดเป็นภาษามอญ ปัจจุบันที่นี่
เป็นวัดเดียวที่ยังเก็บรักษาพระไตรปิฎกภาษามอญไว้ พระประธานในพระอุโบสถนั้นเป็นพระปางมารวิชัย ฝีพระ
หัตถ์ของพระองค์เจ้าประดิษฐานวรการ ผู้ที่สร้างพระสยามเทวาธิราช ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 5 ทรงยกย่องว่าพระประธานองค์นี้งามด้วยพระพักตร์ดูมีชีวิตชีวาเหมือนคนจริง
                เครื่องปั้นดินเผาของที่นี่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากดินเหนียวท้องนา สืบทอดมาจากบรรพบุรุษชนชาติ
มอญที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย ปัจจุบันได้พัฒนารูปแบบทั้งความทันสมัยแต่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิม เพื่อ
เพิ่มมูลค่าเป็นที่ต้องการของตลาด ยังมีการรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจสมุนไพร,ขนมหวานโบราณและขนมหวานมงคล เช่น ทองหยิบ, ทองหยอด, ฝอยทอง, เม็ดขนุน, ทองเอก, เสน่ห์จันทร์, และจ่ามงกุฏอันขึ้นชื่อว่าเป็นขนมที่หาทานยาก เพราะขั้นตอนการทำยากวัตถุดิบประกอบด้วย แป้งสาลี กระทิ น้ำตาลทราย ไข่แดง เม็ดแตงโม ทองคำเปลว



                จ.พระนครศรีอยุธยา หมู่บ้านหนองสรวง อ.บางไทร  เข้ากราบหลวงปู่เจียม ที่วัดกระแชง เพื่อความเป็น
สิริมงคล ซึ่งตำบลกระแชง ตั้งขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 350 ปี มีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาว่าสมัยก่อนมีชาวมอญ และพวกพ่อค้า
ชาวจีนและอื่นๆ ได้เดินทางมาค้าขายโดยใช้เรือกระแชง ซึ่งเป็นเรือขนาดใหญ่ ล่องมาตามแม่น้ำน้อย เมื่อมาถึง
บริเวณที่ตั้งของตำบลกระแชงก็แวะพักทุกครั้ง และได้เห็นว่าที่นี่มีภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์จึงได้อพยพมาตั้งถิ่น
ฐาน โดยทางราชการได้จัดขึ้นเป็นชื่อตำบลกระแชง ในปี พ.ศ.2457  ตั้งชื่อตามเรือกระแชง ยังมี พ่อปู่แสงอาทิตย์สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านที่ทุกคนที่ตลอดจนผู้มาเยือนต้องสักการะและขอพร มีนั่งรถกระแทะให้ชมวิวท้องทุ่งและสูดอากาศบริสุทธิ์
                อัตลักษณ์ที่เด่นชัดของชุมชนแห่งนี้ คือ การคงความเป็นวิถีชุมชนแบบดั้งเดิมไว้ ปัจจุบันมีการเลี้ยง
จิ้งหรีดเป็นสัตว์เศรษฐกิจ ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 110 -120 บาท  และเนื่องจากชุมชนแห่งนี้อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำน้อย
เมื่อถึงฤดูน้ำหลากจะประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำแต่จนปี 2558 ผู้ใหญ่บ้านได้คิดนวัตกรรมแพผักลอยน้ำจาก
การศึกษาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 โดยใช้ไม้ไผ่มาต่อเป็นแพ แล้วนำดินมาใส่ ปลูกผัก อาทิ ผักบุ้ง
ตะไคร้ กะเพรา โหระพา ยังใช้เป็นการอนุบาลหน่อกล้วยได้อีกด้วย แนวคิดดังกล่าวท้าให้ผู้ใหญ่บ้านได้รับรางวัล
แหนบทองคำในปี 2561 และชาวบ้านก็มีพืชผัก ผลไม้กินได้ตลอดปี ปัจจุบันที่นี่กิจกรรมหลากหลาย ให้เลือกท่อง
เที่ยวทั้งแบบ one day trip และค้างคืนที่โฮมสเตย์ของชาวบ้าน
                สินค้าชุมชนก็มีให้เลือกอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสบู่สมุนไพร สเปรย์ตะไคร้หอมไล่ยุง น้ำยาอเนกประสงค์จากมะกรูด งานจักสานทั้งจากผักตบชวาและไม้ไผ่  กิจกรรมของชุมชนเล็ก ๆ ริมแม่น้ำน้อย สาธิตการเพาะเห็ด,การเลี้ยงจิ้งหรีดและแปรรูป , การเผาถ่าน/การทำน้ำส้มควันไม้ ,การทำจักสานไม้ไผ่ สานกุ้งโชว์ พวงกุญแจกุ้งสาน ,การทำขนมพื้นถิ่นโบราณ,ขนมปิ้งกลางไฟ ,ขนมกะหรี่พั๊ฟ ,การดำนาวิถีไทยวิถีพอเพียง ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้ร่วมด้วย ,ชมวิถีคนตกกุ้ง ,ชิม ชม ช้อป ผลิตภัณฑ์ OTOP/ ผลิตภัณฑ์ชุมชน ผักปลอดสาร  และสินค้าที่ระลึก ณ จุด  จำหน่ายสินค้า OTOP 12. จุดเช็คอิน หมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว"     
                
                จ.สิงห์บุรี กิจกรรมที่นี่ ไหว้พระนอนจักรสีห์  ผู้นำชุมชนกล่าวต้อนรับ  ชมรำเคียว ชมประเพณีกวนข้าวทิพย์ตีข้าวบิณฑ์ ชมบ้านควายอาร์ต Workshop งานศิลปะ ไหว้พระวัดท่านาง ดูสาธิตการทำเต่ารั้งม่านบังตาชมบ้านขุนบริหารจักสีห์และสักการะพุทธมณฑล
                สำหรับวัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร พระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ที่ตำบลจักรสีห์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี
สันนิษฐานว่าสร้างสมัยก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ขนาดใหญ่ เป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่และยาวที่สุดในประเทศ สร้างมานานเก่าแก่ จนไม่ทราบแน่ชัดว่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไรมีพุทธลักษณะแบบสุโขทัย ที่มีความงดงามมาก มีความยาวทั้งสิ้น 1 เส้น 3 วา 2 ศอก 1 คืบ และ 7 นิ้ว ลักษณะพระพักตร์หันไปทางทิศเหนือ พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออก พระกรขวายื่นไปด้านหน้า ไม่งอพระกรขึ้นรับพระเศียรเหมือนแบบไทย ยังมีพระแก้ว พระกาฬ เป็นพระพุทธรูปนั่งศิลา ลงรักปิดทอง และพระนั่งขัดสมาธิเพชร อันศักดิ์สิทธิ์
และมีพุทธลักษณะงดงาม ด้านหน้าวิหารมีต้นสาละลังกาใหญ่ ต้นไม้สำคัญ ในพุทธประวัติ ผลิดอกบานสะพรั่ง อยู่
เสมอ  ภายในตัววัดยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้กราบไหว้บูชา หลายจุด ทั้งรูปปั้นหลวงพ่อโตองค์ใหญ่ ที่อยู่บริเวณหน้าทาง
เข้า  วิหารเจ้าแม่กวนอิม  ก่อนถึงทางเข้ามีสินค้าของฝากจากสิงห์บุรีหลากหลาย

                ประเพณีกวนข้าวทิพย์ตีข้าวบิณฑ์ เก่าแก่ที่ทำกันอยู่แห่งเดียวที่หมู่บ้านจักรสีห์ เมืองสิงห์บุรี ซึ่งตามความเคารพและความเชื่อของคนในสมัยก่อนที่นับถือความศักดิ์สิทธิ์ ได้กราบไหว้ ขอพรพระเพื่อให้ทำการเกษตร เมื่อเจ็บป่วย หรือให้ได้ในสิ่งที่ตนปรารถนาก็จะบนบานสานกล่าว  ระหว่างวันที่ 13- 15 เมษายน ของทุกปี ชาวบ้านจะนัดกันทำพิธีโดยการนำข้าวเหนียวขาวหรือข้าวเหนียวแดงมาหุงหรือนึ่งพอสุก มากวนกับกะทิ น้ำตาลปี๊บแล้วนำมาใส่ใบตองพับเป็นรูปกรวย วางลงบนพานโรยด้วยมะพร้าวและดอกไม้ เรียกว่า พุ่มข้าวบิณฑ์นำไปถวายหลวงพ่อ
พระนอนจักรสีห์  พร้อมอาหารคาว หวาน แล้วสวดมนต์เช้า ขอพรร้องเพลงรำโทนถวายและลา ข้าวบิณฑ์ แบ่งส่วนหนึ่งให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว อีกส่วนหนึ่งแบ่งกันรับประทาน เพื่อความเป็นสิริมงคล จึงเกิดเป็นประเพณีตีข้าวบิณฑ์โดยประเพณีตีข้าวบิณฑ์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ ได้ถูกกล่าวไว้ในพระราชนิพนธ์ พระราชพิธีสิบสองเดือนเป็นวรรณคดีขนบประเพณี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ เมื่อ พ.ศ.2431 ซึ่งคำว่า ข้าวบิณฑ์ได้ปรากฏอยู่ในพระราชพิธีเดือนห้า ซึ่งถือเป็นการทำบุญเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ของไทย ในเดือนเมษายน
                บ้านควายอาร์ต (KhwhyArt Singburi ) ไม่ไกลจากพรนอนจักรสีห์ เป็นพื้นที่ศิลปะ เพื่อจัดแสดงนิทรรศการผลงานศิลปกรรมหมุนเวียนกันในแต่ละช่วงเวลาและโอกาส ศิลปินชาวสิงห์บุรีหรือใกล้เคียง สนใจจะนำผลงานศิลปกรรมมาจัดแสดง ยังเปิดสอนศิลปะ ให้กับเยาวชนและประชาชนทั่วไป ยังติวศิลปะเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย  เป็นตลาดศิลป์จินตนาการ  รวบรวมเพื่อนพี่น้อง ที่สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรม นำผลงานเล็กๆน้อยๆมาจัดจำหน่ายในราคาสบายๆสามารถจับต้องได้  บริการอาหารจานเดียว และเครื่องดื่ม 



                จ.อ่างทอง เยี่ยมหมู่บ้านยางทองชุมชนบางเจ้าฉ่า  ชมสาธิตการจักสาน , สาธิตนวดสมุนไพรป้าพุ่ม ,ทำปุ๋ย
ไส้เดือน  Showroom ศูนย์จำหน่ายสินค้าโอทอป ,นั่งรถอีต๊อกชมต้นยางนา เยี่ยมชมจักสานบ้านครูอ๊อด
                สำหรับบางเจ้าฉ่าเป็นชุมชนที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งชาวบ้านได้เคยร่วมกับชาวแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ
และชาวบางระจัน สู้รบกับทหารพม่า ณ บ้านบางระจัน โดยมีนายฉ่า เป็นผู้นำ ภายหลังการสู้รบยุติลงแล้ว "นายฉ่า"
จึงได้นำชาวบ้านมาตั้งบ้านเรือนเป็นที่อยู่อาศัยถาวรขึ้นในชุมชนด้านทิศตะวันตกของลุ่มแม่น้ำน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่
อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การตั้งเป็นที่อยู่อาศัย อันได้แก่ ต.บางเจ้าฉ่า ในปัจจุบัน ตำบลบางเจ้าฉ่า เป็นตำบลที่ตั้งอยู่ใน
เขตการปกครองของอำเภอโพธิ์ทอง มีจำนวนหมู่บ้านทั้งสิ้น 8 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 บ้านบางเจ้าฉ่า หมู่ 2 บ้านบาง
เจ้าฉ่า หมู่ 3 บ้านบางเจ้าฉ่า หมู่ 4 บ้านบางเจ้าฉ่า หมู่ 5 บ้านบางเจ้าฉ่า หมู่ 6 บ้านบางเจ้าฉ่า หมู่ 7 บ้านบางเจ้าฉ่า หมู่ 8
บ้านบางเจ้าฉ่า
                ที่นี่มีพิพิธภัณฑ์เครื่องใช้ไม้ไผ่ บ้านยางทอง เป็นการรวมตัวกันของชาวบ้านเจ้าฉ่า อ.โพธิ์ทอง รวมตัวกัน
จัดประชาคมเพื่อวางแผนอนาคตร่วมกัน และริเริ่มพัฒนาโครงการต่างๆ ให้เป็นแหล่งส่งเสริมอาชีพ นำไปสู่การส่ง



เสริมอาชีพจักสานไม้ไผ่ เดิมชุมชนบางเจ้าฉ่ามีอาชีพทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก และด้วยพื้นที่นี้มีต้นไผ่ขึ้นอยู่
มากมาย และมีทุกรอบรั้วเสมือนเขตแดนของบ้าน อาชีพจักสานไม้ไผ่จึงเป็นอาชีพเสริม จนปัจจุบันจักสานได้พัฒนา
กลายเป็นอาชีพหลักพัฒนารูปแบบหลากหลาย จนมีผู้สนใจจากภายนอก กลายเป็นสินค้าผลิตภัณฑ์ของชุมชน OTOP ที่มีคุณภาพดีสามารถส่งออกต่างประเทศได้ ภายในพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงหลักฐานในการใช้ไม้ไผ่มาตั้งแต่สมัยโบราณ กับวิถีชีวิตชาวบ้าน ตั้งแต่เกิดจนตาย ตลอดจนเครื่องมือทำมาหากินต่างๆ ของชาวบางเจ้าฉ่าด้วย
                เส้นทางนี้แสดงนี้จะทำให้นักท่องเที่ยวสัมผัสถึงชีวิตของคนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง นนทบุรี -อยุธยา-สิงห์บุรีอ่างทอง ที่มีประเพณีดั้งเดิมในทุกๆด้านที่จะสร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือนอย่างไม่รู้ลืม เพราะ
จะไม่ใช่แค่ไปเชคอิน แชะ ชม ชิม ช้อป แชร์..เท่านั้นแต่ไป.แล้วจะ..รัก.. นั่นเพื่อรอวันกลับไปอีกครั้ง...

***********************














0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น