pearleus

วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

จังหวัดสมุทรสาคร จัดพิธีเจริญพระพุทธมนต์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

        เมื่อเวลาเวลา 14.00 น. ฃอง วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 นายนริศ นิรามัยวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานฝ่ายฆราวาสในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคลแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ประจำปีพุทธศักราช 2568 ณ วัดหลังศาลประสิทธิ์ ตำบลท่าจีน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีพระเทพสาครมุนี ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค14 เป็นประธานสงฆ์ ร่วมด้วย พระราชวัชรสาครคณี เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร เจ้าอาวาสวัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร, เจ้าคณะอำเภอเมือง, คณะสงฆ์จังหวัดสมุทรสาคร,ปลัดจังหวัดสมุทรสาคร, นายอำเภอ, ส่วนราชการ, ภาคเอกชน และ ประชาชน ร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก












                 ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ประธานฝ่ายฆราวาสได้จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย จากนั้น เปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระสงฆ์สวดเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ จากนั้น กรวดน้ำและรับพร เป็นอันเสร็จพิธี  ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของชาติ และถวายเป็นพระราชกุศลและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ของพระมหากษัตริย์ รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ย ที่ทรงมีคุณูปการต่อประเทศชาติและปวงชนชาวไทย


สมุทรสาครเสริมความรู้สถานประกอบการสร้างความตระหนักร่วมแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5

 


                เมื่อเวลา 09.30 น.ของวันทึ่ 27 กุมภาพันธ์ 2568  นายนริศ นิรามัยวงศ์  ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในพิธีเปิดประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม กิจกรรมหลัก เสริมสร้างความรู้ สร้างความตระหนัก และเตรียมความพร้อมของประชาชนในการจัดการภัยฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (p.m2.5) โดยใช้หลักการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ  โดยอาศัยชุมชนเป็นฐานจังหวัดสมุทรสาคร  โดยมีนายอนุตร  ปางพุฒิพงษ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาคร หัวหน้าส่วนราชการ  ผู้แทนส่วนราชการ  คณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่  พนักงานบริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน)  เข้าร่วมกิจกรรม ที่ห้องประชุมบริษัท ยูนิคอร์ด จำกัด (มหาชน) ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองฯ จังหวัดสมุทรสาคร ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร  กล่าวว่า วันนี้ถือว่าเป็นการมาพูดคุยเยี่ยมชมการดำเนินการในด้านการป้องกันและลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5  ซึ่งเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าทางสถานประกอบการได้ดำเนินการเป็นอย่างดี ขอชื่นชมและขอบคุณ ซึ่งการอบรมในครั้งนี้หวังว่าจะได้นำความรู้ที่ได้ไปขยายผลต่อครอบครัว เพื่อให้เกิดประโยชน์และสามารถควบคุมฝุ่นละอองได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งโครงการส่งเสริมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วม ในกิจกรรมเสริมสร้างความรู้ สร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมของประชาชนในการจัดการภัยฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) โดยใช้หลักการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน โดยมุ่งกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 3 กลุ่ม ได้ กลุ่มนักเรียน นักศึกษาในสถานศึกษา, กลุ่มคนทำงานในสถานประกอบการ และกลุ่มผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนของจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อร่วมกันดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วม เสริมความรู้ สร้างความตระหนัก เตรียมความพร้อม และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการความเสี่ยงและมีความพร้อมในการจัดการภัยจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ต่อไป..














แถลงข่าวเชิญชวนเที่ยวงานเกษตรและของดีบ้านแพ้ว.ปิดทอง”หลวงพ่อโต” วัดหลักสี่ฯ วันที่ 16 – 24 มีนาคม 2568

 


                นายพิรุณโรจน์ นาคดนตรี นายอำเภอบ้านแพ้ว ได้กล่าวว่า  สำหรับอำเภอบ้านแพ้วมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญหลากหลายชนิดทั้ง มะม่วง มะพร้าว มะนาว ชมพู่ ลำไย องุ่น กล้วย แก้วมังกร ปลาสลิด ดอกกล้วยไม้ ผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร ฯลฯ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมเพรียง ความสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทุกภาคส่วน ทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีสมควรแก่การยกย่องเป็นอย่างยิ่ง โดยในการจัดงานเกษตรและของดีอำเภอบ้านแพ้วปี 2568 นี้ก็มีกิจกรรมสำคัญ อาทิเช่น การจัดประกวดพืชผลทางการเกษตร,การประกวดหนูน้อยเกษตรบ้าน, การประกวดปลาสลิด,การคัดเลือกเกษตรกรดีเด่นแต่ละตำบล เข้ารับรางวัลเชิดชูเกียรติ,การจำหน่ายผลไม้ พันธุ์ไม้ ผลผลิตทางการเกษตรจากเกษตรกรโดยตรง ในราคาถูก และการจำหน่ายสินค้า OTOP ที่ขึ้นชื่อของอำเภอ และ การจัดจำหน่ายสินค้าราถาถูกของกระทรวงพาณิชย์ เป็นต้น ...


                นายอำเภอบ้านแพ้วได้กล่าวต่อว่า เชื่อมั่นได้ว่า การจัดงานครั้งนี้จะส่งผลให้เกษตรกร และ ผู้บริโภคได้รับผลประโยชน์โดยตรง ดังนั้นจึงขอเชิญชวนทุกท่านให้มาเที่ยวงานและจับจ่ายซื้อสินค้าเกษตร และของดีต่างๆ ของอำเภอบ้านแพ้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่มีคุณค่า พร้อมทั้งส่งเสริมสนับสนุนเกษตรกรในพื้นที่ให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนยังเพื่อให้เกษตรกรได้พัฒนาผลผลิต หรือต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้ดียิ่งขึ้นสอดคล้องกับแนวทางยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดสมุทรสาครด้านการส่งเสริมสินค้าเกษตร การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และรักษาอัตลักษณ์ของงานนี้ไว้เป็น ประเพณีสืบต่อไป....











                ด้านพระราชวัชรสาครคณี เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า สำหรับในปีนี้กำหนดจัดงานนมัสการปิดทองหลวงพ่อโต วัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร ประจำปี 2568 และงานเกษตรและของดีอำเภอบ้านแพ้ว ประจำปี 2568 ขึ้นในระหว่างวันที่ 16 – 24 มีนาคม 2568 ภายในงานมีกิจกรรมที่สำคัญและยิ่งใหญ่คือ การแห่องค์หลวงพ่อโตทางเรือ , การปิดทองนมัสการองค์หลวงพ่อโต เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำคลองดำเนินสะดวก , พิธีไหว้องค์หลวงพ่อโตด้วยกระเช้าผลไม้นับหมื่น,การจัดแสดงมหรสพ และการออกร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆมากมาย



๑๒๐ ปี เฉลิมฟ้าส่องแผ่นดินท่าฉลอม สาครบุรี

             

         จังหวัดสมุทรสาครได้ชื่อในประวัติศาสตร์ว่าเป็นที่จัดตั้งสุขาภิบาลท้องถิ่นแห่งแรกของสยามในรัชกาลที่ ๕  คือสุขาภิบาลท่าฉลอมเมื่อปี ร.ศ. ๑๒๔ พ.ศ ๒๔๔๘  ซึ่งเป็นแบบอย่างการจัดตั้งสุขาภิบาลกระจายไปทั่วประเทศ

   ความจริงสุขาภิบาลได้มีการจัดตั้งมาก่อนหน้านี้แล้วในกรุงเทพฯ โดยในปี ร.ศ. ๑๑๖ พ.ศ ๒๔๔๐  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้พระราชทานพระราชดำริในการกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่นขึ้นโดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ประกาศใช้พระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ ๑๑๖ ขึ้น จากการที่ทรงมอบหมายให้พระราชโอรสและข้าราชบริพารไปศึกษาดูงานการปกครองในแถบประเทศที่ปกครองโดยชาติที่เจริญแล้ว ได้แก่พม่า มลายู และในยุโรป โดยได้เริ่มทำการทดลองเพื่อเป็นการศึกษาขึ้นในกรุงเทพฯ

        สุขาภิบาลในชั้นต้นมีหน้าที่ตามพระราชกำหนดคือกำจัดทำลายขยะมูลฝอย กำจัดเก็บที่ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะของประชาชนทั่วไป  จัดการห้ามต่อไปภายภาคหน้าอย่าให้ปลูกสร้างหรือซ่อมโรงเรืยนที่จะเป็นเหตุให้เกิดโรค  ขนย้ายสิ่งของโสโครกและสิ่งรำคาญของมหาชนให้พ้นไปเสีย    แต่การบริหารงานของสุขาภิบาลกรุงเทพฯดำเนินการโดยข้าราชการทั้งหมดโดยกรมสุขาภิบาล สังกัดกระทรวงนครบาล  มีเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ควบคุม

    ปฐมบทแห่งการปกครองท้องถิ่นไทย โดยประชาชนในท้องถิ่นเป็นผู้บริหารจัดการเกิดขึ้นที่ตำบลท่าฉลอม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร  เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมีหนังสือตราน้อยที่ ๒๐ /๓๙๙๐  ลงวันที่ ๒ สิงหาคม  ร.ศ. ๑๒๔  ถึงพระยาพิไชยสุนทร  ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร  ความว่า  " ด้วยเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๒๔  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว(ร๕) เสด็จออกที่ประชุมเสนาบดีมีรับสั่งถึงที่ได้ไปประพาสเมืองนครเขื่อนขันธ์ (เมืองพระประแดง สมุทรปราการ)  เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคมไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัยที่ได้ทอดพระเนตรเห็นถนนแลตลาดในเมืองนครเขื่อนขันธ์โสโครกมาก รับสั่งว่าสกปรกเหมือนตลาดท่าจีน ฉันนั่งอยู่ในที่ประชุมรู้สึกละอายใจมากที่เมืองนครเขื่อนขันธ์จะสกปรกหรือสะอาดก็ไม่ใช่เรื่องธุระของเรา แต่ความสกปรกของตลาดท่าจีนซึ่งสกปรกจริงสำหรับเป็นที่ยกตัวอย่างเทียบที่อื่นที่ไม่พอพระราชหฤทัยเช่นนี้ก็เสมอกริ้วตลาดท่าจีนด้วยเหมือนกัน..."      สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสั่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครดำเนินการให้กำนันผู้ใหญ่บ้านและประชาชนในชุมชนจัดการประสาทจัดถนนในตลาดท่าจีนให้หายโสโครกให้ได้


           พระยาพิไชยสุนทร (จร)  เมื่อได้รับหนังสือสั่งการแล้วจึงได้เชิญกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และพ่อค้าชาวจีนในตลาดท่าฉลอมมาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาหาทางปรับปรุงแก้ไขซึ่งได้ข้อสรุปว่าประชาชนและพ่อค้าชาวจีนยินดีที่จะออกเงินซื้ออิฐปูถนนและขอให้ทางราชการเป็นผู้ทำถนนโดยใช้แรงงานนักโทษทำการปรับปรุงพื้นดิน  สำหรับการเก็บกวาดขยะมูลฝอยไปเททิ้ง  มีลูกจ้างเทขยะมูลฝอย ๒ คน  ค่าจ้างคนละ/เดือนละ  ๒๐  บาท สำหรับการก่อสร้งถนนได้เงินจากการเรี่ยไรเป็นเงิน ๕,๔๗๒ บาท ปรับปรุงเป็นถนนปูด้วยอิฐ  มีทางระบายน้ำทั้ง ๒ ข้างทาง  กลางถนนยาว ๓๔ เส้น   ตั้งเสาติดโคมไฟ (ตะเกียงในกระจกสี่เหลี่ยม) ระยะห่าง ๑๐ วา จำนวน ๗๐ โคม เพื่อให้แสงสว่างในเวลากลางคืน  มีลูกจ้างจุดไฟและเติมน้ำมันตะเกียง ๒ คน ค่าจ้างคนละ/เดือนละ ๒๐ บาท 


หลังจากได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทำรายงานทูลเกล้าถวายต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ  และทรงมีพระราชหัตถเลขาที่  ๗๕/ ๖๘๑  มีความว่าวันที่ ๑๗  สิงหาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔ ถึงกรมหลวงดำรงราชานุภาพด้วยได้รับหนังสือที่มีมายังกรมขุนสมมตอมรพันธ์ ที่ ๘๕๖/ ๔๔๙๙ ลงวันที่วานนี้ ส่งสำเนาท้องตราและสำเนาใบบอกพระยาพิไชยสุนทรว่าได้จัดการตลาดเมืองสมุทรสาครให้เป็นการสะอาดนั้นทราบแล้ว  มีความยินดีที่ได้ผลดีดังนี้ ถ้าสำเร็จเมื่อใดจะออกไปดูโดยทางรถไฟ สยามินทร " 



      

๑๘ มีนาคม พ.ศ ๒๔๔๘  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งสายปากคลองสาน -มหาชัย มายังตำบลท่าฉลอมเพื่อทรงเปิดถนนที่ประชาชนช่วยกันสละทรัพย์สร้างขึ้นโดยทรงพระราชทานนามถนนนี้ว่า  "ถนนถวาย"    พระราชทานเลื่อนและแต่งตั้งบรรดาศักดิ์ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้ซึ่งได้เกี่ยวข้องจัดการสุขาภิบาลท่าฉลอมด้วยโดย
   ๑.  ขุนประเทศภักดี (หรั่ง) กำนันตำบลท่าฉลอมเป็น "ขุนหลวงพัฒนาการภักดี
   ๒.  จีนเปียน   กรรมการพิเศษเมืองสมุทรสาครเป็น "ขุนพิจิตรนรการ"  ตำแหน่งกรมีการเมืองฯ
   ๓.  จีนแดง  ผู้ใหญ่บ้านท่าฉลอมเป็น  "ขุนพิจารณ์นรกิจ"  ตำแหน่งกรมีการเมืองฯ
   ๔.  จีนยี้   ผู้ใหญ่บ้านท่าฉลอมเป็น  "ขุนพินิจนครการ"  ตำแหน่งกรมีการเมืองฯ

นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งกรรมการบริหารสุขาภิบาลชุดแรก  ประกอบด้วย
   ๑.  หลวงพัฒนาการภักดี (หรั่ง) กำนันตำบลท่าฉลอม
   ๒.  ขุนพิจารณ์นรกิจ  (จีนแดง)  ผู้ใหญ่บ้านท่าฉลอม
   ๓.  ขุนพิจิตรนรการ  (จีนเปียน)  กรมการเมืองสมุทรสาคร
   ๔.  ขุนพินิจนรการ  (จีนยี้)  ผู้ใหญ่บ้านท่าฉอม
   ๕.  จีนอู๊ด
   ๖.  จีนโป้
   ๗.  จีนสุข
   ๘.  จีนมัก
   ๙.  จีนเน่า


                  

  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกภาษีร้านค้าที่จัดเก็บได้ปีละประมาณ ๑,๙๒๙ บาท ให้ใช้จ่ายในการสุขาภิบาลท่าฉลอม โดยมีพระราชดำรัสตอบในพิธีเปิดถนนว่า  "......การที่จะรักษาถนนราษฎรทั้งหลายได้ออกทุนทำครั้งนี้ ถ้าจะทิ้งไว้คอยซ่อมเมื่อชำรุดมากก็จะเหมือนอย่างทำใหม่ และยังจะต้องรับความลำบากก่อนเวลาที่ได้ซ่อมใหม่ไปช้านาน เพราะฉะนั้นเราได้ยอมยกภาษีเรือ โรงร้านเฉพาะตำบลท่าฉลอมนี้ให้เป็นเงินรักษาถนนให้สะอาดบริบูรณ์อยู่เสมอ และจัดการให้เป็นที่สะดวกตามทุน จะทำได้ให้ผู้ซึ่งอยู่ในท้องที่จัดการรักษาเอง เมืองนี้เป็นผู้ที่ได้พยายามทำถนนโดยลำพังราษฎรในท้องที่เป็นครั้งแรกคงจะจัดการรักษาถนนตามที่อนุญาตให้ทำได้สำเร็จดีเป็นครั้งแรกเหมือนกัน จะได้เป็นเยี่ยงอย่างแก่เมืองอื่นสืบไป....."   นับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อการปกครองท้องถิ่นรูปแบบการปกครองตนเองของปวงชนชาวตำบลท่าฉลอม  ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากประชนเป็นอย่างมากเห็นได้จากการที่สมุหเทศาภิบาลหลายแห่งขอนำไปใช้ในพื้นที่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ต่อมาสุขาภิบาลตำบลท่าฉลอมได้เปลี่ยนการจัดการเป็นสุขาภิบาลเมือง ตามพระราชบัญญัติการจัดการศุขาภิบาลหัวเมือง  ศก ๑๒๗  เฉพาะในเขตตำบลท่าฉลอมได้รวมตำบลตำบลที่มีเขตติดต่อรวม ๕ ตำบล ได้แก่ตำบลมหาชัย ตำบลท่าจีน ตำบลบางหญ้าแพรกตำบลโกรกกราก   ประกาศราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๓๓ หน้า ๒๗๔  วันที่  ๒๔  ธันวาคม ๒๔๕๙ จัดตั้งเป็นเทศบาลเมืองสมุทรสาคร เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๔๗๘  ประกาศราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๕๒ วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๗๘

       ปัจจุบันจัดตั้งเป็นเทศบาลนครสมุทรสาคร เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๒   ประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับพระราชกฤษฎีกาเล่ม ๑๑๖ ตอนที่ ๑๑๐ ก วันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ จังหวัดสมุทรสาคร และเทศบาลนครสมุทรสาคร จะจัดพิธีวางพวงมาลาถวายสักการะ ถวายราชสดุดีและถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ณ บริเวณหน้าวัดสุทธิวาตวราราม (ช่องลม)  ในวันที่ ๑๘ มีนาคม ทุกปี


.
.
.
.
.
ปรีชา  ฐินากร



วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568

นิคมสหกรณ์โคกขาม ตำบลโคกขาม จ.สมุทรสาครจัดพิธีวางพานพุ่มถวายสักการะฯ พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 109 ปี สหกรณ์ไทย

            เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ที่บริเวณลานพระอนุสาวรีย์ พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ นิคมสหกรณ์โคกขาม ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร นายนริศ นิรามัยวงศ์  ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร เป็นประธานในพิธีวางพานพุ่มสักการะถวายสักการะฯ พระอนุสาวรีย์ พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์


        เนื่องในวันสหกรณ์แห่งชาติครบรอบ 109 ปี  โดยประธานในพิธีได้กล่าวคำถวายสดุดีพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย และอ่านสารของนายกรัฐมนตรีที่มีต่อการสหกรณ์และสมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศไทย โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ  นายอำเภอ  ภาคเอกชน  พี่น้องประชาชนจากสหกรณ์ต่างๆ เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก








...